2 มี.ค. – ตำรวจสอบสวนกลางปัดข่าว ซากตัวเงินตัวทองที่ยึดได้ในพื้นที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ไม่ได้ถูกนำไปทำลูกชิ้น ผู้ต้องหาเตรียมส่งขายตลาดชายแดนภาคตะวันออก นำไปทำอาหารป่า แพทย์เตือนกินเนื้อตัวเงินตัวทอง เสี่ยงติดเชื้อ มีแบคทีเรียเยอะมาก ไม่ควรกิน ปล่อยให้มันอยู่ตามธรรมชาติ
หลังจากเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่า ใน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีนายมนต์ อายุ 73 ปี เป็นเจ้าของ ตัวเงินตัวทองที่ยังมีชีวิตอยู่ในถุง 32 ตัว ซากตัวเงินตัวทองวางกองอยู่กับพื้นและอยู่ในกะละมัง 59 ซาก ผู้ต้องให้การรับว่า รับซื้อตัวเงินตัวทองมาจากชาวบ้านเพื่อแปรรูปแล้วจำหน่าย พ่อค้าที่มารอรับซื้ออยู่พอดีเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ ภายในบ้านยังมีอีก 5 คนที่กำลังชำแหละซาก
ต่อมาเพจหนึ่งโพสต์รูปภาพตัวเงินตัวทอง พร้อมข้อความว่า บุกทลายโรงงานผลิตลูกชิ้นปลาเจ้าใหญ่ที่ดัดแปลงใช้เนื้อของตัวเงินตัวทองมาทำเป็นลูกชิ้นปลา เนื้อขาวใส ไร้ความคาว ส่วนหนังน่าจะนำไปตากแห้งทำเป็นหนังปลาทอดกรอบ จัดจำหน่ายส่งขายทั่วประเทศมานานแล้ว
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ บก.ปทส. ระบุว่า ภาพดังกล่าวเป็นผลงานการจับกุมของตำรวจ บก.ปทส. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่เข้าตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องหาที่ลักลอบซื้อขายเพื่อการค้าและมีไว้ในครอบครองซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จำพวกสัตว์เลื้อยคลาน ในพื้นที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
จากการสืบสวนยืนยันว่า ซากตัวเงินตัวทองเหล่านี้ เตรียมนำไปขายต่อที่ตลาดชายแดนภาคตะวันออก เพื่อนำไปประกอบเป็นอาหารป่าขายแก่ผู้ชื่นชอบเท่านั้น ไม่ได้ส่งโรงงานผลิตลูกชิ้นตามที่มีกระแสข่าวแต่อย่างใด
ศ.ดร.น.สพ. จิตรกมล ธนศักดิ์ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเชี่ยวชาญการรักษาตัวเงินตัวทอง (เหี้ย) เป็นห่วงการติดเชื้อโรคการกินเนื้อเหี้ย เนื่องจากอาศัยตามแหล่งน้ำไม่สะอาด ในน้ำลายยังมีแบคทีเรียเยอะมาก ตลอดจนพยาธิที่อยู่ในอวัยวะภายในจากอาหารสดที่มันกิน
เหี้ยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่ไม่ได้มีการเพาะเลี้ยงแบบปศุสัตว์เหมือนอย่างจระเข้ แม้คิดว่าเมื่อปรุงสุกทั่วถึง อาจกินได้เหมือนเนื้อจระเข้ แต่ระหว่างกระบวนการตั้งแต่ต้นทาง ทั้งการจับมาจากธรรมชาติ การชำแหละ จนถึงการเตรียมวัตถุดิบก่อนปรุง อาจได้รับเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ เช่น เชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลาที่อยู่อุจจาระ เชื้ออีโคไลซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบได้ในลำไส้ อาจก่อให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือมีไข้ อาเจียน หรืออาจมีเชื้อโรคอื่นที่รุนแรงกว่านี้ ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือ ไม่บริโภคและปล่อยให้มันอยู่ตามธรรมชาติ
ขณะที่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บอกว่า ได้รณรงค์หยุดการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมายมาโดยตลอด ช่วยให้สัตว์ป่ามีชีวิตและทำหน้าที่ในธรรมชาติของเขา ความต้องการเนื้อสัตว์ป่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดการล่า ฆ่า และค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย นำมาสู่การลดจำนวนของสัตว์ป่า จนบางชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ข้อมูลการวิจัยของ TRAFFIC และสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน ในเดือนมิถุนายน 2564 ที่ศึกษาการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าของคนไทยในเขตเมือง พบว่าร้อยละ 32 มีการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า รวมถึงเนื้อสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย และในจำนวนเท่าๆ กันนั้นมีแนวโน้มจะบริโภคอีกในอนาคต
สำหรับกลุ่มประชากรในเขตเมืองที่บริโภคเนื้อสัตว์ป่าส่วนใหญ่ในประเทศไทย มีช่วงอายุระหว่าง 18-30 ปี มีฐานะและชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยว โดยเหตุผลหลักในการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า คือ รสชาติ ความอยากรู้อยากลอง และความรู้สึกของความสำเร็จ ความตื่นเต้น แปลกใหม่ ไม่ใช่เพื่อการประทังชีวิต. – สำนักข่าวไทย