นนทบุรี 1 มี.ค.- ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แนะภาคธุรกิจลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รับมือมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้านำมาใช้กีดกันทางการค้ากับไทยได้ ย้ำขั้นตอนดูแลและจัดทำไม่ยากจึงอยากให้ผู้ประกอบการไทยตระหนักให้มากขึ้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยหลังลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการว่า ขณะนี้ สนค. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจไทย: กรณีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย โดยที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกเร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันกลับสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำให้ทุกประเทศหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก และมีการออกมาตรการต่าง ๆ จนกลายเป็นอุปสรรคและมีผลกีดกันทางการค้า อาทิ สหภาพยุโรปออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon border Adjustment Mechanism: CBAM)
ทั้งนี้ จะเห็นว่าหลายประเทศดังกล่าวเริ่มใช้กับสินค้า 7 กลุ่ม คือ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้าไฮโดรเจน และสินค้าปลายน้ำ บางรายการ (เช่น น็อตและสกรูทำจากเหล็ก) รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (Indirect Emissions)
โดยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66 กำหนดให้ผู้นำเข้าต้องรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจะบังคับใช้มาตรการเต็มรูปแบบในวันที่ 1 ม.ค.69 ที่จะต้องซื้อใบรับรอง CBAM ขณะที่สหรัฐอเมริกามีการเสนอร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม โดยจะเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ส่งผลให้เกิดการปล่อยคาร์บอนในปริมาณสูง มีอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน กรดอะดิพิก ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระจก เยื่อกระดาษและกระดาษ และเอทานอล โดยกฎหมายของสหรัฐฯ จะเริ่มบังคับใช้ในปี 67
นอกจากนี้ การที่ไทยจะรักษาความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลกได้นั้น จำเป็นต้องเร่งผลักดันให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยตระหนักว่า “การพัฒนาที่มุ่งเน้นเพียงเรื่องผลกำไร โดยมองข้ามสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่เพียงพอต่อการค้าและการแข่งขันในโลกปัจจุบัน” สนค. เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเด็นดังกล่าว จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจไทย: กรณีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะจัดทำเป็นรายงานสรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบาย รวมทั้งเป็นการให้ความรู้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการของประเทศคู่ค้าได้อย่างทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม โดยเมื่อวันที่ 20 – 22 ก.พ.66 ที่ผ่านมา ทาง สนค. พร้อมด้วยข้าราชการ สนค. และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย ได้ลงพื้นที่ ณ จังหวัดเชียงราย เพื่อเก็บข้อมูลและระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานและผู้ประกอบการที่มีการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ (1) หอการค้าจังหวัดเชียงราย (2) บริษัทเดอะคอฟฟี่ แฟ๊คทอรี่ จำกัด (3) บริษัท สุวิรุฬห์ชาไทย จำกัด (4) โรงงานหลวงดอยคำ อำเภอแม่จัน (โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่2) (5) โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (6) โรงแรม เดอะ ริเวอร์รี บาย กะตะธานีและ (7) วิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรแทนคุณ จากการลงพื้นที่พบว่าหน่วยงานและผู้ประกอบการดังกล่าว มีศักยภาพสามารถปรับตัวเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจการค้าโดยได้มีการดำเนินการ อาทิการขอรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product หรือ CFP) การขอรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (Carbon Footprint for Organization หรือ CFO) การเข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme: LESS) และการใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต
ทั้งนี้ การจัดทำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะต้องมีการเก็บข้อมูลกิจกรรมการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทขนาดใหญ่จะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ดังนั้น ผู้ประกอบการทุกระดับต้องหันมาให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสามารถเริ่มต้นง่าย ๆ ตั้งแต่การเก็บข้อมูลค่าน้ำ ค่าไฟ การใช้น้ำมัน และปริมาณวัตถุดิบ เป็นต้น เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาว่าขั้นตอนใดของกระบวนการผลิตที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารจัดการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างตรงจุดต่อไป และพบว่ายังมีปัญหาสำคัญในเรื่องการสร้างความตระหนักให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้งผู้ประกอบการส่วนใหญ่อาจเห็นว่ายังเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งภาครัฐต้องสร้างความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการถึงประโยชน์ของการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจในระยะยาว ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าและบริการ และในการทำธุรกิจการค้ากับประเทศพัฒนาแล้วจะต้องให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นต้น.-สำนักข่าวไทย