ส.ส.แห่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ

รัฐสภา 7 ก.พ.- ส.ส.แห่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ ซัด กฎหมายล้าหลัง ยัดไส้ ไม่น่าไว้ใจ ขณะ ส.ว.หนุนผ่านร่าง เพื่อจัดระเบียบสื่อให้สื่อ-ประชาชนได้ประโยชน์ ยัน พร้อมฟังเสียงคัดค้านนำปรับปรุงชั้น กมธ.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นพิเศษวันนี้ (7 ก.พ.) มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเป็นประธานในที่ประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ

นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงสาระของร่างกฎหมายว่า กำหนดให้มีองค์กรเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพของบุคคล ซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง และกำหนดให้มีการกำกับดูแลส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชน โดยกำหนดให้มีองค์กรกลางเรียกว่า สภาวิชาชีพสื่อมวลชน โดยมีคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนในการเป็นกลไกขับเคลื่อนสภาวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อให้การทำหน้าที่ตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพเป็นไปอย่างเหมาะสม ทำให้อาชีพสื่อมวลชนมีความเป็นอิสระในการนำเสนอข่าวสารและแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมประการหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่เมื่อมีสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนที่ได้รับการคุ้มครอง สื่อมวลชนจะสามารถทำได้อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมของสื่อมวลชน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึงรอบด้าน และความเท่าเทียมกันของประชาชน รวมถึงยังได้กำหนดให้มีมาตรฐานคุ้มครองประชาชนหรือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หรือองค์กรสื่อมวลชน อันมาจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน


ขณะที่สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง อาทิ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่า สื่อมวลชนมีทั้งคนดีและไม่ดีปะปนกัน มาตรฐานสื่อถูกตั้งคำถาม ซึ่งที่ผ่านมา ตนเองต่อต้านการมีกฎหมายจริยธรรมสื่อ เพราะเชื่อว่าสื่อสามารถปกครองดูแลกันเองได้ แต่หลังจากผ่านมา 3 รัฐธรรมนูญเกือบ 20 กว่าปี พบว่าจำเป็นต้องมีการส่งเสริมจริยธรรมและสร้างมาตรฐานวิชาชีพสื่อ เพื่อให้สื่อมวลชนทำหน้าที่แทนประชาชนในการดูแลสิทธิเสรีภาพประชาชน ไม่ใช่การทำตามอำเภอใจ แม้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มาจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ในฐานะที่เป็นอดีตสื่อมวลชนเห็นว่า สื่อมวลชนมีปัญหาเรื่องมาตรฐานจริยธรรม จึงควรมีกฎหมายดูแลเพื่อกำกับดูแลกันเหมือนกับวิชาชีพอื่น และร่างกฎหมายฉบับนี้มีหลายเรื่องที่เป็นข้อดีอย่างมาก แต่ก็มีความเห็นสอดคล้องกับผู้ที่คัดค้านในปัญหาของบทเฉพาะกาล หากร่างฉบับนี้ผ่านวาระรับหลักการ ตนจะเข้าไปเป็นกรรมาธิการฯเพื่อปรับปรุงแก้ไขบทเฉพาะกาลเพื่อไม่ให้สื่อถูกมัดมือชก

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย อภิปรายคัดค้านว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มาโดยไม่ชอบ มีรากของลัทธิอำนาจนิยม ร่างมาตั้งแต่สมัยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว เพราะมีความเห็นแบบลัทธิอำนาจนิยมว่าสื่อมวลชนต้องควบคุมได้โดย คสช. รากของร่างนี้จึงไม่บริสุทธิ์ และขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แม้จะมีเจตจำนงที่ดีแต่เป็นการยัดไส้ข้างใน สื่อมวลชนไม่สามารถไว้วางใจได้ เพราะกฎหมายฉบับนี้ไม่ตรงปก ไม่รู้กาลเทศะ จึงขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.นี้ออกไปก่อนและทำประชาพิจารณ์ให้ชัดเจนมากกว่านี้

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายตั้งข้อสังเกตว่า ประชาชนทั่วไปที่ใช้โซเชียลมีเดียอย่าง Tiktok จะได้รับผลกระทบจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่ เพราะร่างดังกล่าว ร่างมานานกว่า 5 ปี ตั้งแต่สมัยยังไม่มีแอพพลิเคชั่น Tiktok ซึ่งถือว่า ล้าสมัยแล้ว จึงขอให้รัฐบาลทบทวนและพิจารณาว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะไม่เป็นการครอบงำสื่อ และหากเป็นไปได้ก็อยากให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกไปก่อน


นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่า สภาวิชาชีพสื่อที่ตั้งขึ้นมาไม่มีกฎหมายรองรับเหมือนสภาวิชาชีพอื่น ด้วยความเป็นแซงก็ไม่ไว้ใจผู้ที่ออกกฎหมาย ว่าออกมาแล้วจะทำให้ขาดอิสระและเสรีภาพ ทำให้ไม่มีกฎหมายเหล่านี้ออกมา ซึ่งตนเองก็พยายามพิจารณาว่า กฎหมายนี้ออกมาปิดหูปิดตาปิดปากสื่อมวลชนอย่างที่มีการพูดกันจริงหรือไม่ แต่ต้องยอมรับว่า การที่กฎหมายออกมาแสดงว่าบ้านเมืองและสังคมมีปัญหาจึงต้องการให้มีกติกาเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ ยืนยันว่า มีสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่อย่างสุจริต แต่ก็มีสื่อบางส่วนที่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เสียดสีด่าทอใส่ร้ายฝ่ายหนึ่ง เข้าใจว่ากฎหมายก็ช่วยอะไรมากไม่ได้ แต่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังไม่เห็นว่าส่วนใดที่ปิดกั้นปิดปากควบคุมสื่อมวลชน มีแต่ตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลสื่อมวลชน ส่วนบทลงโทษก็ไม่เห็นมีอะไรที่จะรุนแรง เพียงแต่เป็นกฎหมายที่จัดระเบียบให้สื่อได้รับประโยชน์ ยืนยันว่าไม่ได้เข้าข้างรัฐบาลที่เสนอกฎหมาย แต่มองโลกแห่งความเป็นจริง ทั้งนี้ ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของสื่อมวลชนและต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริงด้วยซึ่งหากจะต้องมีร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ต้องฟังเสียงของสื่อมวลชน.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

ซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติฯ สุดตระการตา รับประเพณียี่เป็ง

ยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ ประดับประดาด้วยแสงไฟรับประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนท่าแพ มีการสร้างซุ้มประดับไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 14 ซุ้ม ยาวกว่า 200 เมตร.

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมรีดทรัพย์ รับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพื่อขายงาน

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมเรียกรับเงิน 20 ล้านบาท จากดิไอคอน ยอมรับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพราะต้องการขายงาน

คุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง เจ้าตัวเงียบรีบเดินขึ้นรถตู้

ตำรวจกองปราบคุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง ผู้ต้องหาปัดตอบสื่อ ด้านพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เพราะมีพฤติการณ์หลบหนี