รัฐสภา 15 พ.ค.- สปท.รับทราบรายงานร่างกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ รับมือภัยคุกคามไซเบอร์ ส่งผลกระทบความมั่นคงและระบบเศรษฐกิจ แนะแจงประชาชนให้เข้าใจ
การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) วันนี้ (15 พ.ค.) พิจารณาแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนวาระการปฏิรูปที่สำคัญและเร่งด่วน 27 วาระ ในปี 2560 กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน เรื่อง ผลการศึกษาและข้อสังเกตร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ….โดยพล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนต ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน ชี้แจงสาระสำคัญว่า เพื่อให้การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มีความชัดเจน ครอบคลุมทุกมิติ โดยเฉพาะด้านความมั่นคง ซึ่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มุ่งเน้นการส่งเสริม สนับสนุนมาตรการปกป้อง ป้องกันระบบเครือข่ายที่จะทำให้การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีความมั่นคงปลอดภัยเพื่อผลทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น
“ยังไม่ได้พิจารณาถึงมาตรการปกป้อง ป้องกันระบบเครือข่ายที่เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งภัยคุกคามมีที่มาจากหลายรูปแบบ ทั้งจากระดับบุคคล องค์กรไปจนถึงการดำเนินการจากรัฐ ภัยพิบัติหรือความเสียหายจากการกระทำที่ไม่ได้มาทางไซเบอร์ ขอบเขตยังไม่ครอบคลุมถึงเรื่องการใช้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือการบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลทางด้านโซเชียลมีเดีย” พล.อ.อ.คณิต กล่าว
ขณะที่พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน กล่าวว่า เพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นภัยใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง และสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงบูรณาการร่วมกัน เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างรอบคอบให้ครอบคลุมด้านความมั่นคงของชาติมากขึ้น
“จะมีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติชั่วคราว (กปช.) เป็นศูนย์กลางเครือข่ายข้อมูลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศทั้งข้อมูลภายในและต่างประเทศ โดยประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภัยคุกคาม การป้องกัน การรับมือความเสี่ยงจากสถานการณ์ด้านภัยคุกคามไซเบอร์ และข้อมูลอื่นใดอันเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เพื่อวิเคราะห์รายงานต่อกปช.” พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ สมาชิก สปท.ส่วนใหญ่สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นเรื่องของโครงสร้าง ไม่ใช่เรื่องของเนื้อหา ควรต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับระบบของไซเบอร์และความมั่นคงด้านโซเซียลมีเดีย รวมถึงต้องมีมาตรการป้องกันระบบไซเบอร์ ที่สำคัญควรกำหนดคำนิยามให้แคบลงเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
จากนั้น ที่ประชุมรับทราบแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนวาระการปฏิรูปที่สำคัญและเร่งด่วน 27 วาระ ในปี 2560 กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานเรื่อง ผลการศึกษาและข้อสังเกตร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …. ซึ่งจะนำข้อเสนอแนะส่งไปยังคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดองเพื่อพิจารณาต่อไป.-สำนักข่าวไทย