กรุงเทพฯ 21 ม.ค. – ยอดผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกและมาลาเรียเพิ่มอย่างต่อเนื่อง อย. แนะวิธีการเลือกซื้อ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงอย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัย
จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคที่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกและมาลาเรียในปี 2565 สูงกว่าปี 2564 ถึง 4.5 และ 3 เท่าตามลำดับ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2566 เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา มีความห่วงใยสุขภาพของประชาชน และได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคดังกล่าว คือ ต้องระมัดระวังไม่ให้โดนยุงกัด หนึ่งในวิธีการป้องกันอย่างง่าย คือ การใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุง ซึ่งมีทั้งรูปแบบการทาหรือฉีดพ่นผิวหนัง ออกฤทธิ์โดยการไปรบกวนกลไกการรับรู้กลิ่นของยุง จึงสามารถใช้ในการไล่ยุงแต่ไม่สามารถฆ่ายุงได้
ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการไล่ยุง จัดเป็นวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ อย. โดยสารออกฤทธิ์ไล่ยุงที่พบบ่อย ได้แก่ ดีอีอีที (DEET), เอทิลบิวทิลอะซีทิลอะมิโนโพรไพโอเนต (Ethyl butylacetyl aminopropionate), อิคาริดิน (Icaridin) และน้ำมันตะไคร้หอม ซึ่งมีวิธีการเลือกซื้อที่แตกต่างกันตามชนิดของสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์ดังนี้ ผลิตภัณฑ์ไล่ยุง ที่มีสาร ดีอีอีที , เอทิลบิวทิลอะซีทิลอะมิโนโพรไพโอเนต, อิคาริดิน ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. ดังนั้น ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ฉลากมีการแสดงเลขทะเบียน อย. วอส. ในกรอบเครื่องหมาย อย. และแสดงระยะเวลาในการป้องกันยุง ส่วนผลิตภัณฑ์ไล่ยุงที่มีน้ำมันตะไคร้หอม เป็นสารออกฤทธิ์ในการไล่ยุง ไม่ต้องขอขึ้นทะเบียน แต่ต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่อ อย. จึงควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีการแสดงเลขที่รับแจ้งบนฉลาก
การใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุง ควรใช้อย่างระมัดระวัง อ่านฉลากและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ควรเก็บผลิตภัณฑ์ในที่มิดชิด ห่างจากเด็ก อาหาร และสัตว์เลี้ยง ปิดฝาให้สนิทและอย่าให้ถูกแสงแดด เปลวไฟ หรือความร้อน ห้ามรับประทาน ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงส่วนใหญ่ ห้ามใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี ควรใช้เฉพาะที่ เมื่อจำเป็นเท่านั้น อย่าใช้ติดต่อกันเป็นประจำ ก่อนใช้ ควรทดสอบการแพ้ โดยการทาหรือพ่นที่บริเวณข้อพับแขน อย่าทาบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น บริเวณใกล้ตา ริมฝีปาก เปลือกตา รักแร้ หรือทาบริเวณแผล และล้างมือทุกครั้งหลังใช้ผลิตภัณฑ์ .-สำนักข่าวไทย