กรุงเทพฯ 27 ธ.ค. – “รองนายกฯ ประวิตร” สั่งยกระดับปฏิบัติการแก้ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ตาม “แผนเฉพาะกิจ” เพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ย้ำระหว่างจังหวัดต้องไม่เกิด “พื้นที่เกรงใจ” ซึ่งเป็นช่องว่างที่ทำให้การดำเนินงานไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเป้าหมายสูงสุดคือ ปกป้องสุขภาพของประชาชน
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้กำชับนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือตาม “แผนเฉพาะกิจ” เพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 โดยระบุว่า ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองเป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ทุกกระทรวงและทุกหน่วยงาน ต้องบูรณาการป้องกันและแก้ไขให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชนทุกพื้นที่ “เมือง ป่า เกษตร”
สำหรับแนวทางบริหารจัดการให้ทำบนหลักการ “สื่อสารเชิงรุก – ยกระดับปฏิบัติการ – สร้างการมีส่วนร่วม” โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่บริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ใช้ระบบ Single command ในการจัดทำประกาศจังหวัดในสถานการณ์ต่างๆ การเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และบูรณาการสั่งการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุกพื้นที่/ทุกระดับ ทั้งอำเภอ ตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน
นอกจากนี้ต้องสร้างความเป็นเอกภาพของข้อมูล ปรับรูปแบบการรายงานข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ ให้น่าสนใจ เข้าถึงง่ายเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนก สร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน ให้นำความเห็นของประชาชนมาปรับปรุงการทำงานให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
ที่สำคัญย้ำให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาต้องเป็นเอกภาพ การรับผิดชอบ กำกับดูแล ต้องไม่เกิด “พื้นที่เกรงใจ” หรือช่องว่างระหว่างพื้นที่ว่า ไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบจะไม่ทำทั้งระหว่างจังหวัดและระหว่างหน่วยงาน
ทั้งนี้ได้กำชับลงไปยังกระทรวงหลักได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงกลาโหม ให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด เตรียมความพร้อมในทุกด้านทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ และกำลังพล สร้างความเข้าใจและความตระหนัก ให้ประชาชนเชื่อมั่น ยอมรับ และร่วมมือในการเฝ้าระวังและดูแลรักษาไม่ให้เกิดปัญหาไฟป่าและการเผาในที่โล่ง พร้อมให้นำเทคโนโลยีมาใช้ประกอบการดำเนินงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการรายงานสถานการณ์ คาดการณ์ ประเมินความเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ สภาพอุตุนิยมวิทยา การคาดการณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า การพยากรณ์ระดับชั้นอันตรายของไฟ และการประเมินพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟ โดยใช้ข้อมูลจุดความร้อนและพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซาก โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ ปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชน.-สำนักข่าวไทย