นนทบุรี 2 ธ.ค.-รองอธิบดีกรมการค้าภายในชี้ปุ๋ยเคมีในประเทศปริมาณเพียงพอต่อการใช้ในประเทศแถมราคาปุ๋ยเคมีลดลงต่อเนื่อง โดยหลังเกษตรกรไทยปรับตัวหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กันมากขึ้น ซึ่งผลผลิตมีคุณภาพและไม่ทำลายดินคาดอนาคตเกษตรกรไทยอาจจะหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กันเพิ่มมากขึ้นได้
ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่าหลังจากปัญหาราคาปุ๋ยเคมีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากกรณีสงครามรัสเซียและยูเครนเกิดขึ้น จนทำให้การจัดหาวัตถุดิบปุ๋ยเคมีขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้นมาก โดยภาครัฐพยายามจัดหาแหล่งนำเข้าปุ๋ยเคมีจากแหล่งอื่นๆเพิ่มเติมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้ ปริมาณปุ๋ยเคมีเริ่มมีมากเพียงพอต่อปริมาณการใช้และตลาดมีการแข่งขันราคากันมากขึ้น รวมทั้งราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลกได้ลดลงมาพอสมควรจนทำให้เวลานี้แม่ปุ๋ยและปุ๋ยสูตรต่างๆ ที่จำหน่ายในประเทศได้ปรับลดราคาลงมาต่อเนื่องด้วยเช่นกัน และกรมฯได้ติดตามราคาปุ๋ยเคมีในสูตรต่างๆ ขณะนี้ ราคาจำหน่ายเฉลี่ยภาคกลาง ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ลดลง 18% และปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) ลดลง 26% เมื่อเทียบกับช่วงกลางปีที่ผ่านมา และคาดว่าราคาปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มที่จะลดลงอีก ดังนั้น กรมการค้าภายในจะร่วมกับสำนักงานพาณิชย์ทั่วประเทศจะติดตามสถานการณ์ปุ๋ยเคมีอย่างต่อเนื่องต่อไป
นอกจากนี้ จากการที่กรมฯได้ลงพื้นที่และพูดคุยกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวและผู้ปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษโดยเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ในจังหวัดนนทบุรี พบว่าเกษตรกรในเครือข่ายของวิสาหกิจชุมชนฯ ได้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงและหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กันมากขึ้น โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงที่มีราคาไม่แพง เช่น มูลสัตว์แกลบ รำข้าว น้ำหมัก และกากน้ำตาล เพื่อนำมาผสมให้ได้สารอาหารที่ขาดในดิน ตามประเภทของพืชที่เพาะปลูกและได้สอบถามเกษตรกรหลังจากที่ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ปุ๋ยพบว่าผลผลิตไม่ได้ลดลง ดินไม่เสื่อมสภาพ และปัญหาแมลงลดลงทำให้ใช้ยาฆ่าแมลงน้อยลงไปด้วย ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อประเทศที่จะหันมาใช้วัตถุดิบในประเทศมาทดแทนการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาปริมาณปุ๋ยเคมีในประเทศถือว่าน้อยลง แต่ขณะนี้ ปริมาณสตอกปุ๋ยของทุกโรงงานรวมกันมีมากถึง 1.43 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 52% ยิ่งแม่ปุ๋ยและปุ๋ยสูตรหลักๆ ยิ่งมีสตอกมากกว่าปีที่แล้ว เช่น ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ปุ๋ยโพแทสเซียม (0-0-60) และปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) สต็อกมากกว่าปีที่แล้วถึง 136% 191% และ 89% ตามลำดับ ขณะที่การจำหน่ายปุ๋ยของทุกโรงงานรวมกันในช่วง 10 เดือนแรกของปี (ม.ค.-ต.ค. 65) จะเห็นได้ว่าปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีทั่วประเทศลดลงประมาณ 36% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 ทั้งนี้ เกษตรกรส่วนหนึ่งได้ปรับเปลี่ยนแนวทางในการเพาะปลูกโดยใช้ปุ๋ยเคมีลดลงและใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพทดแทน หรือใช้แบบผสมผสานควบคู่กันไปเพื่อลดต้นทุนในการเพาะปลูก .-สำนักข่าวไทย