นายกฯ ชูเศรษฐกิจ BCG ตอบโจทย์การพัฒนายั่งยืน

อิมแพ็ค เมืองทองธานี 28 พ.ย.- นายกฯ ย้ำเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศในทุกมิติ ชูเศรษฐกิจ BCG ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ตอบโจทย์การพัฒนาแบบยั่งยืน มุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานศตวรรษที่ 21


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานกิจกรรมนำเสนอผลการพัฒนาต้นแบบนโยบายภายใต้โครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง : ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (หลักสูตร ป.ย.ป.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง : ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (หลักสูตร ป.ย.ป.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า รองหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่า เจ้าหน้าที่ภาครัฐในส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีรับฟังการนำเสนอผลการพัฒนาต้นแบบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการในเชิงบูรณาการตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และหมุดหมายจาก (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ตามลำดับ ดังนี้


  1. การพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยให้พร้อมเผชิญภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ โดย พลเอก สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นำเสนอต้นแบบนโยบาย “การสร้างกลไก พื้นที่ เวที หรือ Platform การเสริมสร้างความสามัคคีปรองดองเพื่อการพัฒนาประเทศ”
  2. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและลดความเสี่ยงจากอุทกภัย โดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยการน้ำแห่งชาติ นำเสนอต้นแบบนโยบาย “การสร้างตัวแบบนโยบาย และขยายผลการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน”
  3. การพัฒนาสมรรถนะทุนมนุษย์เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต โดยนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นำเสนอต้นแบบนโยบาย “การสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาทักษะสำคัญของกำลังคนในอนาคต” โดยจะมีการนำต้นแบบนโยบายดังกล่าวไปปรับปรุง พัฒนา และใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นการสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติที่เน้นการทำงานเชิงบูรณาการในการปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมผ่านการปฏิบัติจริง และเป็นการพัฒนาทักษะสมรรถนะของข้าราชการให้เป็นข้าราชการแห่งศตวรรษที่ 21 ต่อไป

จากนั้น นายวิษณุ กล่าวให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะด้านการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เน้นย้ำการเปิดพื้นที่หรือเวทีหรือแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมและยังไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบ ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวต้องไม่แบ่งเขาแบ่งเรา ไม่มีการตัดสิน เปิดโอกาสให้ทุกคนเรียนรู้และหาวิธีการแก้ไขด้วยตัวเอง มีเวทีเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายว่า การนำเสนอผลการพัฒนาต้นแบบนโยบายภายใต้โครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง : ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นโอกาสดีในการหารือเพื่อวางแนวทางการพัฒนาและกำหนดนโยบายต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการร่วมมือกันระหว่างกระทรวง ลดการทำงานแนวดิ่ง หรือการทำงานแบบไซโล เพิ่มการทำงานแนวราบ และขับเคลื่อนร่วมกันทั้งองคาพยพ ซึ่งหัวใจของการทำงานในปัจจุบัน ต้องมีการปรับตัวและปรับรูปแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้พร้อมเผชิญกับความผันผวนไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ เช่น ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และการเกิดโรคอุบัติใหม่

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ความท้าทายสำหรับประเทศไทยคือการทำให้ประเทศเติบโตได้บนความสมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยรัฐบาลได้นำแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม BCG Model เป็นหลักในการพัฒนาเพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน ซึ่งประเทศไทยมีข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายทางธรรมชาติ และร่ำรวยวัฒนธรรมที่เป็น SOFT POWER หากต่อยอดขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย จะทำให้เศรษฐกิจ BCG เติบโต และสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก


นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นและจริงใจอย่างยิ่งในการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศชาติในทุกมิติ ให้มีความเจริญก้าวหน้า ทัดเทียมนานาอารยประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทุกกลุ่ม ทุกภาคส่วน ให้ได้รับโอกาสการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม ซึ่งนอกจากนโยบายเศรษฐกิจ BCG ที่มีส่วนช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ พร้อมตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญสูงสุดกับการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในศตวรรษที่ 21 และเป็นพลเมืองคุณภาพที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไป พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและคำนึงถึงสังคมผู้สูงอายุควบคู่ไปด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเร่งลงทุนเพื่ออนาคต ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โทรคมนาคม ดิจิทัล 5G ซึ่งจะรองรับการเชื่อมโยงกันของคน แรงงาน ข้อมูล ความรู้ และเงิน ส่งเสริมการค้าการลงทุนให้กระจายตัวไปสู่ทุกพื้นที่ของประเทศ เปลี่ยนยุค “รวยกระจุก จนกระจาย” ให้กลายเป็นประชาชนมีความสุข มีรายได้ดี ตลอดจนการขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมยุคใหม่ให้เป็น Smart Farmer และผลักดัน 12 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ การพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน เป็นหน้าที่ของทุกคน ที่จะต้องร่วมมือกัน โดยส่วนราชการเป็นฟันเฟืองใหญ่และมีความสำคัญในการดำเนินการ ตั้งแต่การวางนโยบายจนถึงขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ การให้บริการประชาชนที่สะดวก รวดเร็ว โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริม ซึ่งเป็นโอกาสดีที่โครงการฯ เปิดโอกาสให้ระดับผู้บริหารได้ทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ บูรณาการทำงานจนสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งการพัฒนาต้นแบบนโยบายฯ เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต มีความเชื่อมโยงกับแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บท และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 จึงถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการขับเคลื่อนกลไกภาครัฐในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ แบบบูรณาการกันต่อไป

นายกรัฐมนตรีกำชับขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการปฏิบัติ ได้แก่ สทนช. เร่งพัฒนาการแจ้งเตือนภัยด้านน้ำให้เสร็จโดยเร็ว และให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลพัฒนา Application ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลสินค้า การท่องเที่ยว เกษตร และการเตือนภัย นอกจากนี้ ขอให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการบูรณาการระดับพื้นที่ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยควรนำตัวแบบนโยบายจากอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ไปขยายผลการทำงานให้ครอบคลุมทั้ง 22 ลุ่มน้ำ 76 จังหวัด 878 อำเภอ ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อป้องกันปัญหาภัยแล้ง และอุกทกภัยในอนาคต ซึ่งปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมาก หากสามารถดำเนินการได้เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและส่งผลดีกับประชาชน พร้อมเน้นย้ำให้ทุกคน ทุกฝ่ายช่วยกันทำงานเชื่อมโยงและสนับสนุนข้อมูลต่าง ๆ ระหว่างหน่วยงานด้วย

นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำเรื่องการกำหนดนโยบาย ที่ควรร่วมรับฟังปัญหาจากกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ประสบปัญหาโดยตรงอย่างแท้จริง ดังนั้นการทดสอบต้นแบบนโยบายฯ จึงควรนำไปทดสอบกับพื้นที่หรือสถานการณ์จริง เมื่อได้ต้นแบบที่เหมาะสมแล้วให้มีการถอดบทเรียนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ให้สอดคล้องกับบริบทที่เหมาะสมต่อไป เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้ตรงจุด และขอให้การทำงานอย่างบูรณาการร่วมกันในหลักสูตรฯ “เป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่สิ้นสุด” ยังคงร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทุกภารกิจสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยนำหลักการและแนวทางที่ได้รับไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปฏิบัติงานภาครัฐ ที่เน้นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนนำกระบวนนวัตกรรมเชิงนโยบายที่เป็นประโยชน์ไปต่อยอดและขยายผลในการกำหนดนโยบายเรื่องอื่น ๆ ในอนาคตต่อไป รวมทั้งให้มีการนำความรู้และรูปแบบการทำงานใหม่ ๆ ไปขยายผลให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างความเข้มแข็งให้ประเทศชาติและประชาชน นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนสืบไป และขอให้มีการรายงานความก้าวหน้าพร้อมสรุปผลการดำเนินการ รวมถึงรายงานผลการนำต้นแบบนโยบายไปสู่การปฏิบัติ แก่สำนักงาน ป.ย.ป. เป็นระยะด้วย

ช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี ชื่นชมและกล่าวขอบคุณปลัดกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการทุกระดับ ผู้เข้าร่วมหลักสูตรฯ รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ให้ความสำคัญและบูรณาการการบริหารราชการแผ่นดินและการทำงานระหว่างกระทรวงโดยการหารือและกำหนดทิศทางร่วมกันอย่างจริงจัง ตั้งแต่กระบวนการคิด กระบวนการทำให้เกิดการลงมือปฏิบัติจริงเป็นรูปธรรม รวมถึงการใช้นวัตกรรมรูปแบบใหม่ในการกำหนดนโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดียิ่งขึ้นจากกระบวนการ Policy Lab จนสำเร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์

ทั้งนี้ ก่อนการรับฟังผลการพัฒนาต้นแบบนโยบายฯ นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการการสร้างกลไกพื้นที่เวทีหรือแพลตฟอร์มการเสริมสร้างความสามัคคีปรองดองเพื่อการพัฒนาประเทศโดยการเปิดพื้นที่กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ชมต้นแบบนวัตกรรมเทคโนโลยีบริหารจัดการข้อมูลน้ำแบบองค์รวมพร้อมระบบการสื่อสารแบบสองทางเพื่อประชาชน การสร้างตัวแบบและการขยายผลการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ การพัฒนาทักษะสำคัญของกำลังคนในอนาคตเพื่อค้นหาทักษะสมรรถนะที่สำคัญสำหรับคนไทยโดยเฉพาะวัยแรงงานและพัฒนากลไกในการสร้างความร่วมมือสำหรับทุกภาคส่วนตามกระบวนการ Design Thinking และชมกระบวนการศึกษาการพัฒนาทักษะสำคัญด้าน EV ของกำลังคนในอนาคต .-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

ซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติฯ สุดตระการตา รับประเพณียี่เป็ง

ยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ ประดับประดาด้วยแสงไฟรับประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนท่าแพ มีการสร้างซุ้มประดับไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 14 ซุ้ม ยาวกว่า 200 เมตร.

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมรีดทรัพย์ รับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพื่อขายงาน

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมเรียกรับเงิน 20 ล้านบาท จากดิไอคอน ยอมรับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพราะต้องการขายงาน

คุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง เจ้าตัวเงียบรีบเดินขึ้นรถตู้

ตำรวจกองปราบคุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง ผู้ต้องหาปัดตอบสื่อ ด้านพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เพราะมีพฤติการณ์หลบหนี