“วราวุธ” ชี้ BCG เป็นโมเดลเศรษฐกิจเพื่ออนาคต

กรุงเทพฯ 19 พ.ย.- รมว.ทส. คาด การคัดค้านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของ “เครือข่ายประชาชน ราษฎรหยุด APEC 2022” มาจากยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและเพื่ออนาคต ย้ำหากไม่ปรับตัว ไทยจะไม่สามารถค้าขายกับประชาคมโลกได้ ขณะที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้เกิดทั้งภัยพิบัติ วงจรการผลิตภาคการเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร และความเป็นอยู่ของทุกคน


นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวถึงกรณีที่ “เครือข่ายประชาชน ราษฎรหยุด APEC 2022” คัดค้านการที่รัฐบาลเสนอต่อที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคให้นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green) มาขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม โดยเครือข่ายประชาชน ราษฎรหยุด APEC 2022 เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการสนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ขณะเดียวกันเอ็นจีโอบางกลุ่มระบุว่า โมเดลเศรษฐกิจ BCG เอื้อต่อนายทุนหรือบริษัทใหญ่ที่เป็นตัวการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกให้ “ฟอกเขียว” ธุรกิจ

นายวราวุธกล่าวว่า เป็นความจริงที่บริษัทใหญ่และกลุ่มทุนภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวการสำคัญที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเมื่อเป็นผู้ก่อก็ต้องแก้ไข โดยใช้เงินของกลุ่มทุนเหล่านี้เองในการแก้ปัญหา ชาวบ้านจะเอาเงินมาจากไหน


ทั้งนี้คาดว่า ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG อาจไม่เข้าใจถึงความจำเป็นในปัจจุบันที่ทุกประเทศต้องพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงจะเติบโตอย่างยั่งยืน ในทางตรงข้ามหากไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจนเกิดความเสียหายและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กระทบต่อวงจรการผลิตภาคการเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร และความเป็นอยู่ของทุกคน

ดังนั้นจึงไม่เป็นความจริงที่มีบางกลุ่มกล่าวว่า การที่รัฐบาลกำหนดให้การขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นการกำหนดโดยไม่คำนึงถึงประชาชนและเกษตรกร

นายวราวุธยกตัวอย่างภัยธรรมชาติทั้งภัยแล้งและอุทกภัยในประเทศไทยที่นับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น โดยระบุว่า คนที่มีรายได้มากอาจไม่ได้รับผลกระทบนัก แต่ประชาชนทั่วไปและเกษตรกรเดือดร้อนมาก รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงกำหนดแนวทางแก้ไขเพื่อบรรเทาปัญหาเหล่านี้


สำหรับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) คือโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อน 3 ด้านไปพร้อมกันได้แก่ “เศรษฐกิจชีวภาพ” (Bio Economy) ใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เชื่อมโยงกับ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้เต็มประสิทธิภาพ ควบคู่ไปใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือ “เศรษฐกิจสีเขียว” (Green Economy) เป็นโมเดลการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติอย่างน้อย 5 เป้าหมายได้แก่ การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลาย ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งยังสอดรับกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย 

ปัจจุบันรัฐบาลดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 เนื่องจากเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ หากไม่ปรับตัวจะไม่สามารถกับประเทศต่างๆ ได้ อย่างเช่น ในสหภาพยุโรปเตรียมใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนหรือ Carbon border Adjustment Mechanism (CBAM) ในสินค้านำเข้าบางประเภทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงได้แก่ ซีเมนต์ เหล็ก-เหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย และไฟฟ้า รวมถึงกำลังพิจารณาเพิ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เข้าไปด้วย ซึ่งผู้ที่จะส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปจะต้องซื้อ “ใบรับรองการปล่อยก๊าซคาร์บอน” หรือ “CBAM certificates” เพื่อเป็นการจ่ายค่าธรรมเนียมหรือ “ค่าปรับ” ในการปล่อยคาร์บอน ขณะที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดาจะใช้มาตรการภาษีคาร์บอนเช่นกัน ประเทศใดจะส่งสินค้าไปขาย ต้องดูว่า ในกระบวนการผลิตทั้งหมดก่อคาร์บอนฟุตปรินต์เท่าไร ถ้าเกินกำหนดต้องเสียภาษีเพิ่ม ทำให้เสียโอกาสในการแข่งขัน ไทยพึ่งพาการส่งออกมากถึง 70% กรณีที่การส่งออกมีปัญหาจะกระทบต่อรายได้ประเทศ รวมถึงหากมีการขยายให้ครอบคลุมสินค้าเกษตร เกษตรกรจะได้รับผลกระทบอย่างมาก ในภาคการลงทุนก็เช่นกัน ธนาคารจะไม่ปล่อยกู้ให้ธุรกิจที่มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม

นายวราวุธกล่าวย้ำว่า กระแสรักษ์โลก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องขำๆ ของคนโลกสวย แต่เป็นเทรนด์โลกที่จะส่งผลกระทบครั้งยิ่งใหญ่ โลกเคยประสบ “Digital Disruption” มาแล้ว พวกที่ไม่ปรับตัวจึงล้มหายตายจากไปมากมาย แต่ “Climate chang Disruption” มีพลังกวาดล้างรุนแรงยิ่งกว่า ดังนั้นการปรับตัวสู่โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นเศรษฐกิจเพื่ออนาคตจึงเป็นหนทางสู่ความยั่งยืน. -สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สำนักสงฆ์หูตาทิพย์

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์”

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์” พระอ้างใช้สอนวิปัสสนากรรมฐาน เบื้องต้นอายัดไว้พิสูจน์ดีเอ็นเอ พร้อมเอาผิดหัวหน้าสำนักสงฆ์ ฐานนำศพเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สุสานและฌาปนสถาน

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

รัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงยืนยันว่ารัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มภาคตะวันออกยูเครนเมื่อวานนี้ ตอบโต้ที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่ได้รับมอบจากสหรัฐและอังกฤษ

ข่าวแนะนำ

โค้งสุดท้าย ศึกสองนารีชิงเก้าอี้ นายก อบจ.นครฯ

เหลือไม่ถึง 2 วันแล้ว ที่ชาวนครศรีธรรมราชจะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ ศึกนี้เป็นการสู้กันเองของพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายหนึ่งต้องการรักษาฐานที่มั่นไว้ให้ได้ อีกฝ่ายต้องการเจาะฐานให้แตก เพื่อหวังครองที่นั่งการเมืองระดับชาติในสมัยหน้า

ร้อนระอุโค้งสุดท้าย ศึกชิงเก้าอี้ นายก อบจ.อุดรธานี

การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ครั้งนี้ดุเดือดเกินคาด ผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่ลงชิงชัย ต่างเร่งเครื่องเต็มที่ในโค้งสุดท้าย การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.นี้ ใครจะเป็นผู้คว้าชัยชนะและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้จังหวัดอุดรธานี ไปติดตามจากรายงาน

ความเห็นนักวิชาการ คดีทักษิณ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ขณะที่นักวิชาการชี้ว่าไม่ได้พลิกไปจากความคาดหมาย และผลจากคดีนี้ ไม่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่ก็ยังมีจุดเสี่ยงที่ต้องระวัง