ประชาธิปัตย์ 30 เม.ย. – องอาจ คล้ามไพบูลย์ ชี้กฎหมายคุมสื่ออาจขัดรธน. ตั้งข้อสังเกตเปิดช่องให้รัฐใช้อำนาจครอบงำสื่อหรือไม่ เสนอ สปท. พิจารณาให้รอบคอบ เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับ
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการผลักดันให้มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…..เข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ โดยตั้งข้อสังเกตว่าเป็นความพยายามที่จะให้อำนาจรัฐใช้กระบวนการต่างๆ เข้ามาครอบงำ แทรกแซง ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่เป็นอิสระของสื่อมวลชน จึงขอให้ทบทวนแก้ไขในเรื่องรูปแบบองค์ประกอบที่มาของคณะกรรมการวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ รวมไปถึงคำนิยามความหมายของคำว่า “สื่อมวลชน” และการกำหนดโทษต่าง ๆ พร้อมขอให้ สปท. พิจารณาว่าร่างกฎหมายคุมสื่อนี้จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะในหมวด 3 เรื่องสิทธิ และเสรีภาพของปวงชนชาวไทย บัญญัติไว้ชัดเจนในมาตรา 34 ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้” รวมถึงมาตรา 35 ก็บัญญัติไว้ว่า “บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ” จึงไม่อยากให้ที่ประชุม สปท. ละเลยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดที่ทุกฝ่ายควรคำนึงถึงและปฏิบัติตาม
นายองอาจ กล่าวอีกว่า ขอเสนอให้ที่ประชุมสปท.ใช้วิจารณญาณพิจารณา พิจารณาร่างกฎหมายนี้ ให้รอบคอบ เพื่อให้ได้กฎหมายที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ในขณะที่สื่อมวลชนจำนวนมากแสดงออกคัดค้านร่างกฎหมายนี้อย่างชัดเจน สปท.ไม่ควรหักด้ามพร้าด้วยเข่าด้วยการรับร่างกฎหมายนี้ในที่ประชุมสปท.วันที่ 1 พ.ค.นี้ แต่ที่ประชุมสปท.ควรปฏิเสธไม่รับร่างกฎหมายคุมสื่อ และควรแสดงหาจุดร่วมกันกับสื่อมวลชน เพื่อออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริงต่อไป
“เมื่อใดก็ตามที่สื่อมวลชนถูกลิดรอนเสรีภาพไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเสรี และเป็นอิสระ การตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนรอบด้านไปสู่ประชาชนก็จะไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นได้ยาก จึงเท่ากับว่าประชาชนถูกลิดรอนเสรีภาพอันพึงมีพึงได้ตามไปด้วยการที่สื่อมวลชนจำนวนมากออกมาคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงไม่ใช่คัดค้านเพราะเป็นเรื่องที่จะกระทบกับการทำหน้าที่ที่เป็นอาชีพส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่กระทบไปถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของสังคมส่วนรวม และประชาชนทั่วไป ในอดีตถึงแม้จะไม่มีกฎหมายคุมสื่อ แต่ผู้มีอำนาจรัฐบาลยุค บางสมัยก็ใช้อำนาจรัฐเข้าไปข่มขู่คุกคามสื่อมวลชนที่ไม่ยอมตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอำนาจรัฐมาแล้ว เพราะฉะนั้นความพยายามออกกฎหมายคุมสื่อ เช่นนี้จึงไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะไม่เกิดการแทรกแซง ครอบงำสื่อผ่านกระบวนการต่างๆ ทางกฎหมายเกิดขึ้นอีก”นายองอาจกล่าว
นายองอาจ กล่าวอีกว่า การเปิดให้มีตัวแทนภาครัฐเข้ามาทำหน้าที่กำกับ และควบคุมจริยธรรมสื่อมวลชน ครอบคลุมถึงการนำเสนอเนื้อหา และข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วนรอบด้าน เมื่อพิจารณาในทางปฏิบัติของสื่อมวลชนแล้วถ้าสื่อเสนอข่าวตรวจสอบทุจริตของผู้มีอำนาจรัฐ จะถือว่าเป็นการเสนอข่าวที่กระทบต่อบุคคลอื่น จะเข้าข่ายขัดมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่ ส่วนที่ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน (สปท.) เสนอให้ออกบทเฉพาะกาลเพิ่มเติมให้ตัวแทนภาครัฐนั่งอยู่ในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติในวาระ 3 ปี ได้แค่ 2 เทอม รวมเป็น 6 ปีเท่านั้น นายองอาจเห็นว่า เรื่องตัวแทนภาครัฐอยู่ในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติไม่ใช่เรื่องของการต่อรองว่าจะอยู่กี่ปี แต่เป็นเรื่องของหลักการว่าไม่ควรมีตัวแทนภาครัฐอยู่ในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ-สำนักข่าวไทย