กรุงเทพฯ 4 พ.ย. – กรมอุตุฯ ออกประกาศเตือนช่วงวันที่ 4-6 พ.ย.65 ภาคใต้ตอนล่างฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก ขณะที่ไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบน อากาศเย็นกับมีหมอกบางตอนเช้า
ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ ฉบับที่ 2 (312/2565)
ในช่วงวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2565 ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคใต้ตอนล่างเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศมาเลเซียและช่องแคบมะละกามีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกพัดปกคลุมภาคใต้ อ่าวไทย และทะเลอันดามัน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่
จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้
วันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2565 : จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 : จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา พังงา ภูเก็ต และกระบี่
ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกหนึ่งได้แผ่เสริมลงมาถึงประเทศจีนตอนกลางและปกคลุมประเทศไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงอีกเล็กน้อยในภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ส่วนยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส และยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-14 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย
สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ประกอบกับร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคใต้ตอนล่างเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศมาเลเซียและช่องแคบมะละกา ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง
อนึ่ง ในช่วงวันที่ 4-6 พ.ย. 65 ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคใต้ตอนกลางจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้
กทม.-ปริมณฑล : อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงอีกเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคเหนือ : อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 16-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.
ภาคกลาง : อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงอีกเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคตะวันออก : อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงอีกเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 18-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) : ตอนบนของภาค มีอากาศเย็นในตอนเช้า ตอนล่างของภาค มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดพัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) : มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดกระบี่ ตรัง และสตูล อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร.-สำนักข่าวไทย