กรุงเทพฯ 27 เม.ย. – กระทรวงคมนาคม เตรียมพิจารณาปรับโครงสร้างแท็กซี่ทั้งระบบ โดยเฉพาะการตั้งบริษัทประชารัฐ มาเป็นกลไกจัดการแท็กซี่แทนระบบสหกรณ์ที่ล้มเหลว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเกิดเหตุแท็กซี่ข่มขืนนักท่องเที่ยวสาว ชาวบราซิล และมีการดำเนินคดีผู้กระทำผิดร่วมถึงลงโทษปรับสหกรณ์ที่เป็นเจ้าของรถไปแล้ว ในอัตรา 3,000 บาท อย่างไรก็ตามมีการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในสื่อสังคมออนไลน์ ถึงการลงโทษสหกรณ์ที่มีโทษปรับเพียงน้อยนิด ขณะที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการไม่ควบคุมคนขับและปล่อยปละให้ผู้ไม่มีใบอนุญาตมาขับแท็กซี่ สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศ
ล่าสุด กระทรวงคมนาคม เตรียมนำผลศึกษาการปรับโครงสร้างระบบรถแท็กซี่มาใช้ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ คือการจัดตั้งบริษัทประชารัฐ เพื่อทำหน้าที่แทนระบบสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบัน มีสภาพปัญหาไม่สามารถกำกับดูแลผู้ขับให้ปฏิบัติตามกฎหมายได้ โดยสหกรณ์แท็กซี่ในปัจจุบันมีสภาพที่เสมือนบริษัทเช่าซื้อรถ มีการขายรถที่มีอายุการใช้งาน 9-12 ปี ราคาคันละ 60,000 บาท ให้แก่บุคคลที่ต้องการมาขับแท็กซี่ โดยไม่สนใจว่า บุคคลเหล่านี้จะมีประวัติอาญากรรม หรือ มีใบขับขี่สาธารณะ หรือไม่ จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง
จากผลการศึกษาของกระทรวงคมนาคม พบปัญหาหลักของแท็กซี่ ที่มีอยู่ในระบบประมาณ 100,000 คัน โดยแท็กซี่เหล่านี้ ขาดการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ทั้งจาก กรมการขนส่งทางบก และ อู่สหกรณ์ต้นสังกัด ขณะที่สัดส่วนของรถที่ตามกลไกสหกรณ์ที่ควรจะมีรถในระบบ 70% แต่จากปัญหาที่สหกรณ์ทำตัวเป็นลิซซิ่งนี้ ทำให้รถเหล่านี้ส่วนใหญ่ เป็นผู้ประกอบการส่วนบุคคลภายใต้ชื่อสหกรณ์เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีปัญหาแท็กซี่ ยังขาดการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงวิชาการ ทั้งจำนวนที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้ ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่นำไปสู่การกำหนดราคาค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรม รวมถึงปัญหาขาดการพัฒนาคุณภาพผู้ขับรถต่อเนื่องยาวนาน โดยผู้ขับรถส่วนใหญ่ไม่มีสวัสดิการสังคม มีรายได้เพียงการเลี้ยงชีพ และกลายเป็นบุคคลขาดรายได้หลังจากออกจากอาชีพเมื่อถึงวัยเกษียณ
ทั้งนี้มาตรการที่กระทรวงคมนาคม เห็นว่าควรนำมาปรับโครงสร้างแท็กซี่ทั้งระบบ นอกจากการตั้งบริษัทประชารัฐแล้ว ยังมีข้อเสนอให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาผู้ประกอบอาชีพ และนำระบบเทคโนโลยีอันทันสมัย เช่นการจัดตั้งแท็กซี่สตาร์ทอัพ มาช่วยในการสื่อสารระหว่างแท็กซี่กับผู้โดยสาร รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายบทลงโทษที่ต้องรุนแรงขึ้นอย่างจริงจัง – สำนักข่าวไทย