สธ. 26 เม.ย.- สธ.กำชับโรงพยาบาลทุกแห่งเข้มมาตรการความปลอดภัยของรถพยาบาล ติดตั้ง CCTV, GPS, เข็มขัดนิรภัย ทำประกันภัย หากเกิดอุบัติเหตุให้มีการสอบสวนหาสาเหตุทุกกรณี หากกระทำผิดให้พิจารณาโทษตามระเบียบราชการ เผยสถิติในรอบ 6 เดือน ประสบเหตุ 24 ครั้ง
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลได้กำหนดให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดแก้ไขปัญหาการบาดเจ็บจากจราจร ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ในส่วนของกระทรวงฯ มีบุคลากรส่วนหนึ่งที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากจราจรระหว่างปฏิบัติหน้าที่ และได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาลและความคุ้มครองอุบัติเหตุทางถนน โดยมีหนังสือสั่งการให้ทุกจังหวัดดำเนินการ ดังนี้ ติดตั้งระบบสัญญาณดาวเทียม (GPS) โดยเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับศูนย์บริหารจัดการเดินรถ ของกรมการขนส่งทางบก ในการควบคุมความเร็วแบบ Real Time ติดตั้งกล้อง CCTV ในรถพยาบาล เป็นการติดตามพฤติกรรมการขับรถและอาการของผู้ป่วย เพื่อช่วยเตรียมการรักษาแบบทันท่วงที พร้อมทั้งการทำประกันภัยรถพยาบาล ประเภท 1 กรณีเกิดอุบัติเหตุให้มีการคุ้มครองขั้นพื้นฐาน ขณะนี้มีรถพยาบาลในสังกัดติดตั้ง GPS แล้ว 879 คัน ซึ่งจะเร่งรัดให้ดำเนินการทั้งหมด
ปลัด สธ. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนพนักงานขับรถพยาบาล ให้เข้าอบรมเพิ่มทักษะและประสบการณ์ทุกคน ก่อนปฏิบัติหน้าที่จะมีการตรวจแอลกอฮอล์จากลมหายใจต้องเป็น 0 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ทุกครั้ง มีการตรวจสอบหาสารเสพติดปีละ 2 ครั้ง ทดสอบสุขภาพจิตปีละ 1 ครั้ง กรณีส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลที่มีระยะทางเกิน 400 กิโลเมตร ต้องมีคนขับ 2 คน ขับรถจำกัดความเร็วที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือไม่เกินที่กฎหมายกำหนด และถือปฏิบัติการขับขี่ปลอดภัย (Safety Driving) ตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัยและเป็นแบบอย่างที่ดีของประชาชน
“ได้กำชับโรงพยาบาลทุกแห่งเข้มมาตรการความปลอดภัยของรถพยาบาล และมีหนังสือสั่งการไปยังนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง หากรถพยาบาลในสังกัดเกิดอุบัติเหตุ ให้มีการสอบสวนสาเหตุร่วมกับสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคทั้ง 12 เขต หากเป็นฝ่ายกระทำผิดให้มีการพิจารณาความผิดและกำหนดโทษและการลงโทษทางวินัยตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน และรายงานต่อผู้บริหารระดับสูงต่อไป เช่น กรณีรถพยาบาลโรงพยาบาลปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ที่ประสบอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ได้ลงโทษผู้บริหารตามระเบียบของทางราชการ เนื่องจากไม่ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งการติดตั้งระบบติดตามรถผ่านดาวเทียม การติดกล้องหน้ารถยนต์ และการทำประกันภัยเพิ่มความคุ้มครองขั้นพื้นฐาน” นพ.โสภณ กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาล จากศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 – เมษายน 2560 เกิดอุบัติเหตุ 24 ครั้ง สาเหตุเบื้องต้นเกิดจากการชนคู่กรณี ถูกคู่กรณีชน ตกข้างทาง ชนต้นไม้ พลิกคว่ำ เป็นต้น มีผู้บาดเจ็บ 60 คน เป็นบุคลากรสาธารณสุข 33 คน ประชาชน 27 คน มีผู้เสียชีวิต 6 คน.-สำนักข่าวไทย