สำนักงาน ป.ป.ช. 20 ต.ค.- “วิลาศ” ร้อง ป.ป.ช.สอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ส่อทุจริต ชี้ วางสายไฟใต้ดินผิดแบบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (20 ต.ค.) นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดในหน้าที่ราชการของ นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
นายวิลาศ กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนว่า มีการวางสายไฟใต้ดิน บริเวณสนามภายนอกอาคารรัฐสภา อยู่ลึกประมาณ 5-10 ซม.เท่านั้น เกรงว่าจะได้รับอันตราย โดยจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีการวางสายไฟใต้ดินจริง รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 2,700 เมตร อีกทั้งพบว่ามีการตรวจรับงานงวดและจ่ายเงินแล้ว จึงทำหนังสือถึงเลขาธิการสภาฯ เพื่อขอให้ตรวจสอบเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา และต่อมาประมาณต้นเดือนกันยายน พบมีการขุดร่องตามแนวสายไฟ และพบว่าส่วนใหญ่อยู่ลึก 40 ซม.จริงตามแบบ แต่ก็มีหลายแห่งขุดวางสายไฟไม่ลึกตามแบบ
นายวิลาศ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า ตามแบบต้องกลบทรายหลังท่อสายไฟหนา 10 ซม. และมีทรายรองใต้ท่อสายไฟหนา 10 ซม. แต่กลับไม่มีการกระทำดังกล่าว อีกทั้ง ไม่มีแผ่นคอนกรีตหนา 5 ซม.วางทับตลอดแนวสายไฟ และพบว่าหลายจุดขุดวางสายไฟลึกไม่ถึง 10 ซม. จึงขอให้ตรวจสอบเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย เพราะถือว่าความผิดสำเร็จแล้วกับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการตรวจการจ้าง รวมทั้งผู้ต้องรับผิดชอบอื่นด้วย
ขณะเดียวกัน นายวิลาศ ยังได้ยื่นหนังสืออีก 1ฉบับ ขอให้พิจารณาการกระทำส่อว่าผิดกฎหมายของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรณีเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้าง ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ว่าจ้าง) ว่าขอแจ้งส่งมอบงานงวดสุดท้าย ตามสัญญาก่อสร้าง โดยมีการอ้างถึงหนังสือของผู้รับจ้าง ที่ได้แก้ไขข้อบกพร่องและงานที่ยังไม่แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีงานที่ทำไม่ตรงแบบ ซึ่งบางเรื่องคณะกรรมการตรวจการจ้าง (คตจ.) ยังไม่อนุมัติ บางเรื่อง คตจ. อนุมัติแล้วแต่ยังไม่มีการแก้ไขสัญญา เห็นว่าเมื่อผู้รับจ้างส่งมอบงานแล้ว ผู้ว่าจ้างต้องตรวจรับงานเท่านั้น และในระหว่างตรวจรับงาน ถ้าพบข้อบกพร่องของงาน ต้องสั่งให้ผู้รับจ้างแก้ไข อีกทั้งระยะเวลาที่ใช้ในการแก้ไขต้องดำเนินการตามสัญญา คือปรับวันละ 12.28 ล้านบาท เพราะถือว่าเมื่อส่งมอบงานแล้ว สัญญาสิ้นสุด แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการ จึงขอให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป.-สำนักข่าวไทย