กรุงเทพฯ 11 ต.ค. – กรมชลประทาน คาดปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลงตั้งแต่วันพรุ่งนี้ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มและน้ำเหนือลดลง จะทยอยปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาต่อไป ย้ำระหว่างนี้มีภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาสูงไปด้วย จึงปรับเพิ่มการรับน้ำเข้าสู่ระบบชลประทาน เพื่อรับเข้าสู่ทุ่งลุ่มต่ำ 10 ทุ่ง พร้อมเร่งระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยอย่างเต็มศักยภาพ
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2022/10/11/1036339/1665478931_570718-tnamcot-1024x742.jpg)
นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานคาดการณ์ปริมาณน้ำลุ่มเจ้าพระยาว่า ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (12 ต.ค.) ปริมาณน้ำไหลผ่านลุ่มน้ำปิง ที่สถานี P.17 อ.บรรพตพิสัย และลุ่มน้ำน่าน ที่สถานี N.67 อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มลดลง โดยจะทำให้ในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ลดลงไปด้วย หากระยะต่อไปไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม และปริมาณน้ำทางตอนบนเริ่มลดลง จะทยอยปรับลดการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างเหมาะสมต่อไป
ปัจจุบัน (11 ต.ค.) เวลา 14.00 น. ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ อยู่ที่ 3,054 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ซึ่งจะไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำสะแกกรังอีก 315 ลบ.ม./วินาที เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของบานระบายน้ำและตัวเขื่อนเจ้าพระยา ระดับน้ำเหนือเขื่อนขณะนี้อยู่ที่ +17.68 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง (ม.รทก.) สูงกว่าระดับเก็บกัก 1.18 เมตร (+16.50 ม.รทก.) ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 3,154 ลบ.ม./วินาที ขณะที่ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เฉลี่ยอยู่ที่ 3,090 ลบ.ม./วินาที
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2022/10/11/1036339/1665478971_398570-tnamcot-1024x683.jpg)
ขณะนี้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้น เนื่องจากยังมีน้ำเหนือที่ไหลหลากในแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบกับเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูง กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำ โดยประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปิดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก รับน้ำเข้าอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยขณะนี้ในทุ่งลุ่มต่ำ 10 ทุ่งที่รับน้ำเข้ารวมกับน้ำจากฝนที่ตกในพื้นที่มีน้ำประมาณ 96% ของความจุ
นอกจากนี้ยังเร่งระบายออกทะเล ผ่านประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยการระบายผ่านคลองลัดโพธิ์ สามารถร่นระยะทางการไหลของน้ำจาก 18 กิโลเมตร เหลือเพียง 600 เมตร จะทำให้น้ำไหลลงสู่ทะเลให้เร็วขึ้น.-สำนักข่าวไทย