ปทุมธานี 8 ต.ค.- “ชัยวุฒิ” ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมปทุมธานี ชี้ ระดับน้ำยังคุมได้ มองจังหวัดเตรียมแผนรับมือดีเยี่ยม สิ่งสำคัญต้องอย่าให้ท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ รับที่ลุ่มต่ำต้องทำใจ เผยรัฐบาลเตรียมผันน้ำลงทุ่ง บอกคุยกับชาวบ้านแล้ว ต้องเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกัน
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ติดตามสถานการณ์อุทกภัยที่จังหวัดปทุมธานี พร้อมเยี่ยมผู้ประสบภัย ที่องค์การบริหารส่วนตำบลกระแซง
นายชัยวุฒิ ระบุว่า วันนี้ตนได้รับมอบหมายจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมจังหวัดปทุมธานี ตนรับทราบว่า ตอนนี้ระดับน้ำท่วมสูงมาก หลายจุดข้ามคันกั้นน้ำเจ้าพระยา ไปท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ เท่าที่ลงพื้นที่ ตอนนี้ยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ ตนขอฝากไปยังพี่น้องประชาชนชาวปทุมธานีว่ายังไม่ต้องเป็นห่วง สถานการณ์น้ำยังป้องกันได้ ตอนนี้น้ำท่วมแค่พื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่ง ตนต้องขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สามารถป้องกันน้ำได้เป็นอย่างดี
นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า จังหวัดปทุมธานีวางแผนการรับมือน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี โดยยังไม่มีรายงานปัญหา เรื่องการตัดน้ำหรือไฟฟ้า ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมมาก มองว่าพื้นที่น้ำท่วมส่วนใหญ่มีความคุ้นชินอยู่แล้ว เพราะการอยู่นอกคันกั้นน้ำหรือผนังกั้นน้ำ เวลาน้ำล้นตลิ่ง จะเป็นชุมชนที่ได้รับปัญหาก่อนอยู่แล้ว แต่นโยบายหลักของรัฐบาลคือต้องทำไม่ให้น้ำข้ามไปท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งจะสร้างความเสียหายมาก
ทั้งนี้ ทางรัฐบาลและจังหวัดปทุมธานีก็ร่วมมือกันได้อย่างดีไม่มีปัญหา มันอยู่ที่ปริมาณน้ำด้วยว่า น้ำที่ไหลออกมาจากทางภาคเหนือ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่เท่าที่ดูจากกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ก็มีข้อมูลว่าช่วงสัปดาห์นี้น่าจะเป็นจุดสูงสุดแล้ว หากเราผ่านจุดนี้ไปได้ก็ไม่มีปัญหาแล้ว
ส่วนการนำข้อมูลกลับไปหารือกับคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว นายชัยวุฒิ ระบุว่าจะนำไปหารือคณะรัฐมนตรี แต่ยอมรับว่าพื้นที่ลุ่มต่ำบางทีอาจต้องยอมรับสภาพเพราะไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้
“พื้นที่ที่อยู่ริมแม่น้ำหรือพื้นที่ลุ่มต่ำก็ต้องยอมรับสภาพว่าบางทีมันไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราต้องมองว่าภาพรวมเราต้องมีระบบป้องกันน้ำท่วมที่ป้องกันพื้นที่ชุมชนพื้นที่เศรษฐกิจหรือพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ให้เสียหาย เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้ตามปกติสุข แต่ส่วนบางพื้นที่ที่เราต้องการไม่ได้จริงๆเราก็จะดูแลเยียวยาให้มากที่สุด” นายชัยวุฒิ กล่าว
นายชัยวุฒิ ยังระบุว่า บ้านในชุมชนส่วนใหญ่ที่เป็นบ้านเก่า ส่วนมากสร้างไว้ไม่สูงมาก เนื่องจากสมัยก่อนน้ำไม่ได้ท่วมสูงขนาดนี้
“บ้านสมัยใหม่ ถ้ารู้ เขาก็จะทำบ้านไว้สูง ริมแม่น้ำมันท่วมสูงขึ้น เพราะคันกั้นน้ำที่เราเห็นด้านหลังเป็นตัวยกระดับน้ำให้สูง ตอนนี้ก็สูงเกือบ 3 เมตรแล้ว ไม่อย่างนั้นก็จะอยู่ไม่ได้ ยอมรับว่าก็เห็นใจชาวบ้าน” นายชัยวุฒิ กล่าว
นายชัยวุฒิ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนนี้มีนโยบายผลักดันน้ำอย่างเต็มที่ลงทุ่งนาในภาคกลางทั้งหมด เพื่อเป็นการตัดยอดน้ำไม่ให้ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด โดยได้มีการทำความเข้าใจกับชาวนาและชาวสวน ซึ่งทุ่งที่รับน้ำส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรหมดแล้ว เชื่อว่าชาวนาและชาวสวนส่วนใหญ่เข้าใจ
“ฝากเตือนพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มว่า เราต้องเฉลี่ยทุกเฉลี่ยสุขนะ บางทีถ้าระบบป้องกันน้ำท่วม ถ้าคันกั้นน้ำกันไม่ไหวก็ต้องแบ่งออกไปท่วมบ้าง เพราะถ้าไม่แบ่งออกไปมันก็พัง มันขาด น้ำไปอยู่ดี แล้วมันจะเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่า จะเป็นน้ำท่วมที่คุมไม่ได้” นายชัยวุฒิ กล่าว
สำหรับพื้นที่น้ำท่วมตำบลกระแชง มีชาวบ้านได้รับผลกระทบ 250 ครัวเรือน ระดับน้ำท่วมสูง 3 เมตร ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ริ่มตลิ่งนอกคันกั้นน้ำ.-สำนักข่าวไทย