กรุงเทพฯ 5 ต.ค.- อธิบดีกรมชลประทานระบุ ได้ใช้เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ และแควน้อยบำรุงแดน หน่วงน้ำเหนือที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในพื้นที่ตอนล่าง ซึ่งน้ำท่วมกว่า 2 เดือน ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เต็มความจุ จำเป็นต้องระบายเพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนให้อยู่ในระดับเก็บกัก
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า เป็นห่วงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาซึ่งประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำเดือดร้อนจากน้ำท่วมขังมานานกว่า 2 เดือน จึงได้ประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปิดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล จังหวัดตากเพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำปิง ปิดการระบายน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำน่าน และลดการระบายน้ำเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลกลงครึ่งหนึ่งเพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำน่าน
การปิดการระบายน้ำของเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ รวมถึงการลดปริมาณการระบายของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนเป็นการชะลอน้ำเหนือที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งจะไหลต่อมายังเขื่อนเจ้าพระยาและระบายผ่านท้ายเขื่อนสู่พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง
ทั้งนี้กรมชลประทานดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำบริเวณเขื่อนเจ้าพระยา โดยแบ่งน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยาแล้ว จากนั้นใช้เขื่อนเจ้าพระยาเป็นเครื่องมือชะลอน้ำไว้ที่หน้าเขื่อน เพื่อที่จะระบายผ่านท้ายเขื่อนในอัตราไม่เกิน 2,700 ลบ.ม./วินาทีตามที่ได้เสนอต่อที่ประชุมศูนย์อำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ไว้
การใช้เขื่อนเจ้าพระยาหน่วงชะลอน้ำทำให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนยกสูงขึ้นซึ่งจะควบคุมให้ไม่เกิน 17.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่งผลให้ระดับน้ำใน 3 จังหวัดเหนือเขื่อนได้แก่ ชัยนาท อุทัยธานี และนครสวรรค์สูงขึ้นอีก 30 เซนติเมตรตามที่ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อแจ้งเตือนประชาชนเนื่องจากจะทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งทั้ง 2 ฝั่งเข้าพื้นที่การเกษตรและชุมชนริมน้ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณอำเภอเมืองชัยนาท อำเภอวัดสิงห์ และอำเภอมโนรมย์จังหวัดชัยนาท อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี และอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ประมาณ 700 ครัวเรือนแต่กรมชลประทานมีความจำเป็นเพื่อควบคุมผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำด้านท้ายเขื่อนไม่ให้ขยายวงกว้างขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ยังจะทำให้สามารถควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้ไม่เกินความจุลำน้ำที่ 3,500 ลบ.ม./วินาที เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยวันนี้อยู่ที่อัตรา 3,103 ลบ.ม./วินาที
ในห้วงที่กรมชลประทานชะลอน้ำเหนือจากเขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา 3 เขื่อนดังกล่าว แต่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จังหวัดลพบุรี มีน้ำปริมาณมากไหลเข้าต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องระบายน้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในระดับเก็บกัก โดยวันนี้มีน้ำไหลเข้า 131.78 ล้านลบ.ม. ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมี 1,014.15 ล้านลบ.ม. ซึ่งเกินกว่าความจุที่ระดับเก็บกักสูงสุด 960 ล้านลบ.ม. โดยคิดเป็น 105.64% ของความจุ ขณะนี้ระบาย 800.89 ลบ.ม./วินาทีหรือ 69.17 ล้านลบ.ม./วัน น้ำที่ระบายจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะไหลต่อไปยังเขื่อนพระรามหก โดยวันนี้ระบายผ่านท้ายเขื่อนพระรามหกในอัตรา 821.21 ลบ.ม/วินาทีซึ่งทำให้มีน้ำล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำด้านท้าย.-สำนักข่าวไทย