นนทบุรี 19 เม.ย.-ทุกส่วนงานเฝ้าระวังติดตาม 4 ธุรกิจอย่างใกล้ชิด พร้อมเดินหน้าตั้งคณะทำงานร่วม เตรียมดึงกรมสรรพากรไล่บี้ธุรกิจที่เข้าข่ายหลอกลวง
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวถึงจากกรณีปัญหา ที่บริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด ได้สร้างความเสียหายให้กับประชาชนจำนวนมาก ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กังวลกับปัญหาดังกล่าวอาจจะมีบริษัทหรือนิติบุคคลอื่นๆ เข้าข่ายหรือประกอบธุรกิจในลักษณะเดียวกัน ที่อาจมีความสุ่มเสี่ยงหลอกลวงประชาชน และการประชุมร่วม 13 หน่วยงานภาครัฐเมื่อวานที่ผ่านมา โดยหน่วยงานเหล่านี้ทำหน้าที่โดยตรงต่อการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจและได้ทำความเข้าใจที่จะร่วมกันทำหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อดูแลประชาชนอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางหลังจากนี้ไปทั้ง 13 หน่วยงานจะเชื่อมโยงข้อมูล และติดตามเฝ้าระวังเป็นพิเศษในนิติบุคคล หรือบุคคล ที่ประกอบธุรกิจ ใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจขายตรง การตลาดแบบตรง ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และธุรกิจจำหน่ายอาหารเสริม ซึ่งได้มีการจดทะเบียนนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รวม 16,728 ราย โดยเห็นว่าธุรกิจทั้ง 4 ประเภท มีข้อร้องเรียนจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการติดตามเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลต่างๆ ก็จะพิจารณาจากข้อร้องเรียนของประชาชนเป็นหลัก
นอกจากนี้ จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมเฉพาะกิจขึ้น และเริ่มทำงานในสิ้นเดือนเมษายนนี้ เพื่อตรวจสอบเชิงลึกธุรกิจดังกล่าว โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. กรมการท่องเที่ยว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการปกครองมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว ทำให้สามารถเชื่อมโยงและใช้ข้อมูลร่วมกันได้ทันที ก่อนออกใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ทำให้ลดความเสี่ยง ป้องกันความเสียหาย รวมถึงตรวจสอบนิติบุคคล หรือบุคคลต้องสงสัยได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีการเสนอให้จัดตั้งศูนย์เพื่อรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนจากการถูกฉ้อโกงหรือหลอกลวง โดยก่อนส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเอาผิดกับผู้ที่กระทำความผิด แต่ทั้งนี้แต่ละหน่วยงานเองมีศูนย์รับข้อร้องเรียนในหน่วยงานอยู่แล้ว และบางเรื่องอาจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่จะเร่งเขื่อมโยงข้อมูล และทำงานร่วมกันแหล่งที่พึ่งให้แก่ประชาชนในกรณีที่เกิดเหตุขึ้น และจะมีการหารือกับหน่วยงานอื่น เช่น กรมสรรพากร สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.ให้เข้ามาร่วมในการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อให้ธุรกิจโดยรวมของประเทศน่าเชื่อถือและโปร่งใส รวมทั้งเป็นการอุดช่องโหว่การหลอกลวงของบริษัทมาหาประโยชน์ หรือ หลอกลวงประชาชน และจะเร่งประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ว่และให้ประชาชนสามารถตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับนิติบุคคล ที่ประกอบธุรกิจได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย.-สำนักข่าวไทย