โตเกียว 19 เม.ย.- หลายเสียงในญี่ปุ่นพากันวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อข้อเสนอของรัฐบาลที่จะกำหนดเพดานการทำงานล่วงเวลา (โอที) ไม่ให้เกินเดือนละ 100 ชั่วโมงว่า นอกจากไม่สามารถแก้ปัญหาโรคบ้างานหรือคาโรชิได้แล้ว ยังจะสนับสนุนให้คนเป็นโรคนี้มากยิ่งขึ้น
คณะทำงานที่มีนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะเป็นหัวหน้าคณะได้จัดทำแผนร่วมกับสหพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) และสมาพันธ์สหภาพแรงงานญี่ปุ่น (เรนโก) กำหนดชั่วโมงการทำโอทีอย่างเป็นทางการไม่ให้เกินเดือนละ 45 ชั่วโมง แต่ผู้จัดการสามารถขยายเป็นสูงสุด 100 ชั่วโมงหากเป็นช่วงที่ธุรกิจยุ่งมาก และมีบทลงโทษบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตาม โดยจะเสนอต่อรัฐสภาภายในปีนี้เนื่องจากเป็นการแก้กฎหมายแรงงาน นายกรัฐมนตรีอาเบะอ้างว่า เป็นก้าวครั้งประวัติศาสตร์ที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานในญี่ปุ่น
ด้านสมาคมทนายความแรงงานประณามว่า ข้อเสนอนี้เป็นแผนรับรองขีดจำกัดที่ทำให้คนทำงานหนักจนตาย ส่วนสตรีหัวหน้ากลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากโรคคาโรชิแสดงความผิดหวังว่า คิดว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหานี้ได้ แต่กลับกลายเป็นการก้าวถอยหลัง สามีของเธอฆ่าตัวตายในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษหลังปี 1990 เพราะถูกนายจ้างกดดันขณะทำงานเป็นผู้จัดการร้านขายบะหมี่ เขาทุ่มเททำงานปีละ 4,000 ชั่วโมง หยุดเพียงเดือนละ 2 วัน ถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับและตัดสินใจจบชีวิตตนเองในที่สุด
กฎหมายแรงงานญี่ปุ่นปัจจุบันอนุญาตให้นายจ้างให้พนักงานทำงานล่วงเวลาในช่วงที่ธุรกิจยุ่งมาก จากชั่วโมงทำงานปกติสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง ผลสำรวจในหนังสือปกขาวระดับชาติที่จัดทำเกี่ยวกับโรคคาโรชิเป็นครั้งแรกและมีการเผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อนระบุว่า บริษัทในญี่ปุ่นกว่า 1 ใน 5 แห่งมีพนักงานที่มีแนวโน้มจะเสียชีวิตเพราะการทำงานหนัก.- สำนักข่าวไทย