กรุงเทพฯ 21 ก.ย.-ไทยสร้างไทยขอบคุณสภานำร่างพ.ร.บ.บํานาญเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ล่าสุดประกาศลงเว็บไซต์ของสภาฯ แล้ว ชวนปชช.ร่วมลงชื่อผลักดันสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุรองรับสังคมผู้สูงวัย
น.ส.ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยว่า พรรคไทยสร้างไทยขอขอบคุณสภาผู้แทนราษฎรที่นำร่างพระราชบัญญัติบํานาญแห่งชาติและสวัสดิการผู้สูงอายุ พ.ศ. …. ซึ่งพรรคไทยสร้างไทยยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งล่าสุดร่างดังกล่าวถูกบรรจุลงเว็บไซต์ของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เพื่อให้พี่น้องประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนร่างกฎหมาย ดังนั้นพรรคไทยสร้างไทยจึงขอเชิญชวน พี่น้องประชาชนทุกคนรวมถึง ผู้สูงอายุได้ร่วมกันลงชื่อสนับสนุนเพื่อให้นโยบายบำนาญประชาชนสำเร็จเป็นรูปธรรม เพื่อดูแลผู้สูงวัยในประเทศไทยที่ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน
“จะปล่อยให้ประเทศไทยมีแต่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยไม่ได้ ไม่เช่นนั้น จะเป็นภาระในการรักษาพยาบาลของภาครัฐ จึงต้องดูแลอย่างจริงจังในการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งในร่างกฎหมายดังกล่าว จะกำหนดให้มีเงินบำนาญให้กับผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท และจะมีการส่งเสริมให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพที่ดีขึ้น สามารถทำงานและมีรายได้ ลดภาระของลูกหลานในการดูแลผู้สูงวัยได้ นอกจากนี้จะเกิดประโยชน์กับภาคเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เพราะจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะเงินบำนาญเดือนละ 3,000 บาทที่ผู้สูงวัยจะนำไปใช้จ่ายนั้น จะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้” โฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าว
น.ส.ธิดารัตน์ กล่าวว่า พี่น้องประชาชนที่สนใจสามารถลงชื่อได้ที่ลิ้งค์การร่วมลงชื่อเสนอร่าง พรบ.บำนาญประชาชน ของพรรคไทยสร้างไทย https://dev.parliament.go.th/einitiative/petloginbyshr.aspx ทั้งนี้ ผู้ร่วมลงชื่อต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป สำหรับขั้นตอนการลงทะเบียน 1. เตรียมบัตรประจำตัวประชาชน -> กดลงทะเบียน 2. กรอกชื่อ-สกุล / เลขบัตรประชาชน / Laser ID (หลังบัตรประชาชน) / วันเดือนปีเกิด / เบอร์โทรศัพท์มือถือ (เพื่อรับ OTP ทาง SMS) / กรอกอีเมล (ถ้ามี) / กำหนดรหัสผ่าน / ติ๊กช่องยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไข -> กดลงทะเบียน 3. รับรหัส OTP 6 หลัก ทาง SMS แล้วนำมากรอก -> กด Activate 4. กลับไปที่หน้าล็อกอิน 5. กรอกเลขบัตรประชาชนและรหัสผ่านที่กำหนดไว้ -> กดเข้าสู่ระบบ 6. เข้าสู่หน้าข้อมูลการเสนอร่างกฎหมาย กดเลือกร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติและสวัสดิการผู้สูงอายุ พ.ศ. … 7. กดร่วมลงชื่อ (ปุ่มสีเขียว) 8. ตอบคำถามตอนที่ 1 สถานภาพทั่วไป และตอนที่ 2 ความพึงพอใจ (7 ข้อ) ให้เลือกระดับมากที่สุด -> กดบันทึกความคิดเห็น.-สำนักข่าวไทย