กรุงเทพฯ 15 ก.ย.- รมว.ดีอีเอส เปิดการประชุม APEC Climate Symposium 2022 (APCS 2022) หนุนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นเครื่องมือเพิ่มความแม่นยำและรวดเร็วงานพยากรณ์อากาศ รับมือปัญหา Climate Change หวังบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เกิดบ่อยครั้งและเพิ่มความรุนแรง
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวเปิดการประชุม APEC Climate Symposium 2022 (APCS 2022) ภายใต้หัวข้อ “ การเสริมสร้างความสามารถการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเอเปคด้วยแอพพลิเคชันปัญญาประดิษฐ์ (Enhancing APEC Resilience through AI Applications in Climate Change Adaptation)” โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม 300 คน ทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์
การประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับเทคนิคการคาดหมายสภาพภูมิอากาศล่าสุดในภูมิภาค และเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ผู้ให้บริการอุตุนิยมวิทยา ผู้มีอำนาจตัดสินใจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับด้านสภาพอากาศ ภูมิอากาศ การจัดการภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเอเปค ได้มีปฏิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ในการคาดหมายสภาพภูมิอากาศและการนำภูมิอากาศไปใช้ในภูมิภาค รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ
สำหรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) และสภาวะโลกร้อน ที่ทำให้เกิดสภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ (Extreme Weather Event) บ่อยยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยงานด้านพยากรณ์อากาศ เพิ่มความแม่นยำ ช่วยการตัดสินใจและบริหารจัดการปัญหาความแปรปรวนของสภาพอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ได้ และกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในหลากหลายภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนภาคการเกษตร
พร้อมทั้งยกตัวอย่างผลกระทบจากปัญหา Climate Change ที่ประเทศไทยเผชิญอย่างต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมาได้แก่ ภัยธรรมชาติเพิ่มความรุนแรงขึ้น เกิดบ่อยครั้ง คาดการณ์ได้ยาก อาทิ ฝุ่น PM2.5 พายุหมุนเขตร้อน ลมกระโชกแรง ภัยแล้ง น้ำท่วม ดินโคลนถล่มฯลฯ และผลการะทบทางอุตุนิยมวิทยา โดยแนวโน้มระยะยาวพบว่าทั้งอุณหภูมิเฉลี่ย อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยและอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยมีแนวโน้มสูงขึ้น เป็นต้น
นายชัยวุฒิกล่าวว่า วาระการประชุมสำคัญในครั้งนี้ จะมุ่งเน้น 2 ส่วนหลักได้แก่ 1.เปิดเวทีนำเสนอเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย AI (Tackling climate change with AI) และ 2.การนำเสนอเกี่ยวกับ”Application of AI towards the resilient APEC” โดยนักวิจัยชั้นนำจากต่างประเทศและของประเทศไทย
การจัดประชุม APEC Climate Symposium 2022 เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมงานประชุมเอเปค ปี 2565 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ร่วมกับการประชุมอีก 2 รายการคือ การจัดการประชุม APEC Climate Center Working Group 2022 และการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ Workshop for Thailand Participants as APCS 2022 Side Event
นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า ได้ร่วมมือกับศูนย์ภูมิอากาศของเอเปค (APEC Climate Center :APCC) สาธารณรัฐเกาหลี ในการเป็นเจ้าภาพร่วมกับ APCC จัดประชุม 3 รายการดังกล่าว ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือความเป็นหุ้นส่วนด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของเอเปค (APEC Policy Partnership on Science, Technology and Innovation: PPSTI) โดยมีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็น focal point ของประเทศไทยประจำ PPSTI ทั้งนี้ APCC จะหมุนเวียนการจัดประชุมไปตามเขตเศรษฐกิจที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคประจำปี.-สำนักข่าวไทย