กรุงเทพฯ 16 เม.ย.- “สุริยะใส” เตือน กรธ. – สนช. ถือปฏิบัติตาม ม. 77 การออกกฎหมาย ต้องรับฟังความเห็นประชาชนอย่างเคร่งครัด หากทำแบบสุกเอาเผากิน อาจถูกร้องศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้กฎหมายโมฆะ
นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้อย่างเป็นทางการกระบวนการนิติบัญญัติต้องปฏิรูปไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรคสอง ระบุไว้ชัดเจนว่าการตรากฎหมายใด ๆ ต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ต้องวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ และต้องเปิดเผยผลการรับฟังต่อประชาชน
นายสุริยะใส กล่าวว่า มาตรา 77 ยังกำหนดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายเป็นระยะรวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายเก่าที่ใช้มานานให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย จึงเท่ากับว่ากระบวนการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องถือปฏิบัติตามกรอบนี้ ซึ่งเป็นกรอบปฏิบัติที่เขียนไว้ชัดเจนและไม่เคยมีบทบัญญัติในลักษณะนี้มาก่อน เข้าใจว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)เขียนบทบัญญัตินี้มาเพื่อป้องกันการบิดเบือนเจตนารมย์ของการปฏิรูป
นายสุริยะใส กล่าวว่า ที่ผ่านมามีกระบวนการบิดเบือนเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญในขั้นตอนการตรากฎหมายลูกและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จนทำให้กระบวนการปฏิรูปล้มเหลวซ้ำซากมาแล้ว ดังนั้นทั้ง กรธ.และ สนช. ที่มีหน้าที่โดยตรงในกระบวนการตรากฎหมายจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญจะรับฟังความคิดเห็นแบบพิธีกรรมเหมือนที่ผ่าน ๆ มาแบบขอไปทีไม่ได้ เพราะมาตรา 77 บังคับให้วิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ซึ่งต้องศึกษาทั้งผลดีผลเสียและเปิดเผยต่อประชาชน ฉะนั้นกระบวนการรับฟังต้องเข้มข้นเป็นรูปธรรมกว่าเดิม
“หากฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับฟังความคิดเห็นแบบลวก ๆ หรือสุกเอาเผากินแบบที่ผ่านๆมาอาจทำให้มีการร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจนกฎหมายเป็นโมฆะได้” นายสุริยะใส กล่าว.-สำนักข่าวไทย