กรุงเทพฯ 8 ก.ย. – รฟม. เผยผลเปิด 3 ซอง ประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) พบบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้ประโยชน์ตอบแทนกับรัฐจากโครงการมากกว่า โดยหลังจากนี้ รฟม. เตรียมตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารก่อนประกาศผลเป็นทางการอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (8 ก.ย.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ภายหลัง คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือก) และเอกชนผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอ ซองที่ 1 คือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ 2 ITD Group คือ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และ Incheon Transit Corporation บริษัทเดินรถจากเกาหลีใต้ พร้อมทั้งผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ได้ร่วมเปิดซองข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2565 โดยได้ตรวจสอบพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 แล้วเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2565 โดยผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 รายเป็นผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และรฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ได้เปิดซองข้อเสนอซองที่ 3 เป็นข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน โดยมีผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมและผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 เข้าร่วม เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและร่วมเป็นสักขีพยาน
โดยมีผลเบื้องต้น คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BEM ได้ เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท ขณะที่ ITD Group เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผลประโยชน์สุทธิ คือ เงินตอบแทนที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะให้แก่ รฟม. หักลบด้วยจำนวนเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะขอรับจาก รฟม. จากนั้น รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก จะพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของข้อเสนอดังกล่าวและดำเนินการตามขั้นตอนที่ระบุในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยเคร่งครัดต่อไป
ทั้งนี้ รฟม.ลงประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งใหม่ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2565 และได้เปิดขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents : RFP) ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.-10 มิ.ย. 2565 โดยเอกชนสนใจเข้าซื้อเอกสาร RFP ทั้งสิ้น 14 ราย ต่อมา บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางขอให้เพิกถอนหรือยกเลิกประกาศเชิญชวนฉบับเดือน พ.ค. 2565 และเอกสาร RFP รวมทั้งประกาศกับมติที่เกี่ยวข้องด้วย และขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวห้ามการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ แต่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565 ยกคำร้องคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ BTSC ร้องขอ
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย).-สำนักข่าวไทย