กรุงเทพ 18 ก.ค. – “สุริยะ” ย้ำชัดอยากให้รถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันออก เริ่มเปิดวิ่งปลายปี 2570 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องประชาชนในปี 2571 โดยสายสีส้มทั้งระบบพร้อมเปิดวิ่งปี 2574
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระหว่าง รฟม. และ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BEM โดย BEM เป็นผู้ชนะการคัดเลือกซึ่งเป็นผู้เสนอผลประโยชน์สุทธิต่อรัฐต่ำที่สุด โดยขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างงานโยธาพร้อมดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็นวงเงินรวม 95,432.04 ล้านบาท และเสนอผลตอบแทนให้ รฟม. เป็นวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญาร่วมลงทุน และภายหลังจากการลงนามสัญญาในวันนี้แล้ว รฟม.จะได้มีหนังสือเพื่อแจ้งให้ BEM เริ่มงานก่อสร้าง คาดว่าจะเข้าหน้างานได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ ทั้งนี้ ในเบื้องต้น รฟม.มีแผนที่จะเปิดให้บริการโครงการส่วนตะวันออกก่อน ในต้นปี 2571 และเปิดให้บริการตลอดทั้งเส้นทางทั้งส่วนตะวันออกและตะวันตกในปี 2574
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการลงนาม นายสุริยะ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า อยากจะขอความร่วมมือจาก BEM ให้ก่อสร้างในส่วนตะวันออกให้เปิดใช้งานได้ก่อนภายในสิ้นปี 2570 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้พี่น้องประชาชนในปี 2571 ซึ่งหากรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันออกแล้วเสร็จจะช่วยรองรับการเดินทางได้วันละ 1.5 แสนคน ขณะที่สายสีส้มฝั่งตะวันตกจะรองรับการเดินทางได้วันละเกือบ 4 แสนคน นอกจากนี้ยังจะเชื่อมการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเหลืองและสายสีชมพูอีกด้วย สำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มในส่วนที่ยังเหลือการก่อสร้าง คาดว่าจะมีการจ้างงานอีกราว 30,000 คน มูลค่าการซื้ออุปกรณ์ก่อสร้างจะไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท รวมเงินลงทุนทั้งระบบประมาณ 1 แสนล้านบาท จะช่วยให้จีดีพีของประเทศเติบโต 0.01%
นายสุริยะ ย้ำด้วยว่านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะยังคงเดินหน้าต่อไป โดยในเดือนกรกฎาคมนี้จะมีการออก พ.ร.บ.ตั๋วร่วมซึ่งจะต้องเสนอต่อ ครม.และสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออนุมัติ และภายในปีนี้จะมีการสั่งซื้อรถไฟฟ้าสายสีส้มกว่า 30 ขบวน คาดว่าจะส่งมอบรถได้ภายในระยะเวลา 2-3 ปีนับจากนี้
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรม แห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)ซึ่งหลังจากการลงนามก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มแล้ว ต่อไปจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเทา ขึ้นมาอีกหนึ่งสายซึ่งทางกรุงเทพมหานคร ต้องการโอนมาให้ รฟม.เป็นผู้ดำเนินการ.-513-สำนักข่าวไทย