หวั่น “ปลาเรืองแสง” กระทบอุตสาหกรรมปลาสวยงาม

กรุงเทพฯ 24 ส.ค.- อธิบดีกรมประมง เผยพบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตัดต่อพันธุกรรม หรือ GMOs ซึ่งเสี่ยงต่อการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับชนิดพันธุ์ท้องถิ่น รวมถึงถูกกีดกันทางการค้า กระทบอุตสาหกรรมปลาสวยงามไทยทั้งระบบ หากมีในครอบครองให้ส่งคืนกรมประมง หากพบมีโทษทั้งจำคุกไม่เกิน 1-2 ปี และปรับไม่เกิน 1-2 ล้านบาท


นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ขณะนี้พบมีผู้ที่ทำการเพาะเลี้ยง “ปลาเรืองแสง” หรือปลาที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms : GMOs) ด้วยเทคนิคการนำยีนที่ได้จากแมงกะพรุนหรือดอกไม้ทะเลบางชนิดไปใส่ไว้ใน DNA ที่ควบคุมลักษณะทางพันธุกรรมของปลาและจะสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเด่นขึ้นมา เมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงไฟ Blacklight จะทำให้ตัวปลาเรืองแสงสะท้อนขึ้นมา เกิดความแปลกตาสวยงาม ซึ่งชนิดของสีเรืองแสงที่มีการค้าในปัจจุบันมี 6 สี ได้แก่ สีเขียว (Electric Green) สีฟ้า (Cosmic Blue) สีแดง (Starfire Red) สีส้ม (Sunburst Orange) สีชมพู (Moonrise Pink) สีม่วง (Galactic Purple)

ปัจจุบันนานาชาติโดยส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ GMOs ในสิ่งมีชีวิต เพราะอาจส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับชนิดพันธุ์ที่มีในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปลาสวยงาม หากเข้าไปแทรกอยู่ในยีนแล้วยากที่จะเอาออก ทำให้สูญเสียความเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมไป ถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่น่ากังวล ประกอบกับประเทศไทยได้มีการลงนามในพิธีสารคาร์ตาเฮน่า ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Cartagena Protocol on Biosafety) มีเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการที่ GMOs จะก่อให้เกิดอันตรายต่อความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม และสุขอนามัยของมนุษย์ ดังนั้น หากประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงปลา GMOs อาจส่งผลกระทบทำให้ถูกกีดกันทางการค้าจากนานาชาติ ทั้งในเรื่องของความเข้มงวดของการนำเข้าปลาสวยงาม หรืออาจร้ายแรงไปจนถึงการห้ามค้าขายปลาสวยงามที่เป็นหรือเสี่ยงที่จะเป็นปลา GMOs 


ทั้งนี้ การตรวจสอบสัตว์น้ำตัดต่อพันธุกรรมเรืองแสงในปลาที่เรืองแสงชัดเจน มีขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบโดยละเอียด ด้วยวิธีตรวจสอบจากสารพันธุกรรม (DNA) โดยเทคนิค PCR หรือ Real time PCR ก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายที่สูง ส่วนการตรวจสอบเบื้องต้น สามารถใช้ไฟฉาย UV Black light ส่องดูได้

สำหรับปลาสวยงามหลากหลายชนิดที่นำมาพัฒนาพันธุ์ด้วยวิธีการตัดต่อพันธุกรรมเป็นปลาเรืองแสง เช่น ปลาเสือเยอรมัน (Tiger Barb) ปลาม้าลาย (Danio) ปลากลุ่มเตตร้า (Longfin Tetra & Tetra) ปลาเทวดา (Angelfish) ปลากาแดง (Redfin Shark) 

ส่วนที่น่ากังวลคือ ปลากัด (Betta) เป็นสัตว์น้ำชนิดใหม่ล่าสุดที่นำมาดัดแปลงพันธุกรรมเรืองแสงกลายเป็น “ปลากัดเรืองแสง” และเริ่มออกขายในตลาดปลาสวยงามกว่า 1 ปี เป็นสิ่งที่อันตรายต่อวงการปลากัดไทยอย่างมาก เพราะปลากัดของไทยโด่งดังไกลทั่วโลก เนื่องจากมีลักษณะ ลวดลาย สีสันที่สวยงาม จนมีลูกค้าจากทั่วโลกที่ต้องการปลากัดของไทย มีตลาดค้าขายปลากัดไทยทั้งออนไลน์และออฟไลน์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 200 ล้านบาท/ปี ถือเป็นปลาสวยงามที่สร้างมูลค่าการส่งออกหลักให้การค้าสัตว์น้ำสวยงามของประเทศไทย สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ซึ่งทราบกันว่า ปลากัด เป็นสัตว์น้ำประจำชาติอีกด้วย 


กรมประมงจำเป็นต้องยับยั้ง เนื่องจากในอนาคตอาจเกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับชนิดพันธุ์ที่มีในท้องถิ่นและก่อให้เกิดการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่ออุตสาหกรรมปลาสวยงามของไทยอย่างแน่นอน 

ทั้งนี้ ผู้เพาะเลี้ยงยังมีความผิดทางกฎหมายตามมาตรา 65 และมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 และบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 เพื่อป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ มีโทษทั้งจำคุกไม่เกิน 1-2 ปี ปรับไม่เกิน 1-2 ล้านบาท

ขอย้ำแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง ผู้ประกอบการปลาสวยงาม และกลุ่มลูกค้าปลาสวยงาม ว่าปลาสวยงามมีมากมายหลากหลายสายพันธุ์ ที่สำคัญเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากัดมีความสามารถเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว เช่น ที่ผ่านมามีการพัฒนาปลากัดเป็นลายธงชาติไทย หากพัฒนาให้เป็นลายธงชาติประเทศต่างๆ หรือจะผลิตลวดลายสีสันใหม่ๆ ที่สวยงาม แปลกตา สามารถสร้างมูลค่าในตัวเองได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายในอนาคต ดังนั้น หากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง ผู้ประกอบการปลาสวยงาม และกลุ่มลูกค้าท่านใดที่เพาะเลี้ยงและมีครอบครองอยู่ ขอให้ส่งให้กรมประมงได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน-30 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมง ทั่วประเทศ หรือสำนักงานประมงจังหวัด 77 จังหวัด ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง โทร. 0 2562 0426 หรือ Website กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด : https://www4.fisheries.go.th/local/index.php/main/site/ifdd หรือ Facebook Page : https://www.facebook.com/aquaticplantandornamentalfish.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เหล้าเถื่อนลาว

เสียชีวิตรายที่ 6 คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว

คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตเพิ่มรายที่ 6 เป็นหญิงชาวออสเตรเลีย เสียชีวิตขณะรักษาตัวในไทย

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษา ทบ.

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ช่วยปฏิบัติราชการที่กองบัญชาการกองทัพบก หลังถูกร้องทำร้ายร่างกายผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมช่วยเจ้าทุกข์ย้ายหน่วยตามร้องขอ

ไฟไหม้โรงงานพัดลม เผาวอดเสียหายกว่า 50 ล้าน

ไฟไหม้โรงงานผลิตพัดลมรายใหญ่ จ.สมุทรสาคร ระดมรถดับเพลิงระงับเหตุ กว่า 5 ชม. จึงควบคุมไว้ได้ในวงจำกัด เบื้องต้นเสียหายกว่า 50 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

ศึกชิงนายก อบจ.เพชรบุรี แชมป์เก่ายังแรง

เลือกตั้งนายก อบจ.เพชรบุรี ไม่คึกคัก ผลไม่เป็นทางการ “ชัยยะ อังกินันทน์” แชมป์เก่า คะแนนนำทิ้งห่างคู่แข่ง ด้านเลขาฯ กกต. เผยภาพรวมทั้ง 3 จังหวัด คนมาใช้สิทธิน้อย คาดเบื่อเลือกตั้ง 2 รอบ

คะแนนไม่เป็นทางการ เลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ

ลุ้นผลคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช นับเสร็จแล้วบางหน่วย ล่าสุด ณ เวลา 19.40 น. “วาริน ชิณวงศ์” เบอร์ 2 จากทีมนครเข้มแข็ง ชนะคู่แข่งขาดลอยในหลายหน่วย คะแนนทิ้งห่างแชมป์เก่า “กนกพร เดชเดโช” เบอร์ 1 จากพรรค ปชป.

ลุ้นผลเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี

การเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ขณะนี้การนับคะแนนตามหน่วยต่างๆ เสร็จสิ้นแล้ว อยู่ในขั้นตอนการรวมคะแนน ซึ่งในเขตเมือง ผลปรากฏว่าผู้สมัครจากพรรคประชาชนมีคะแนนนำ แต่อำเภอรอบนอก ตัวแทนพรรคเพื่อไทยมีคะแนนนำอยู่หลายหน่วยเลือกตั้ง

เร่งประสานอินเตอร์โพลขอหมายแดงล่าตัว “หมอบุญ”

ตำรวจเตรียมออกหมายจับเครือข่าย “หมอบุญ” ฉ้อโกง ลอต 2 รวมทั้งเร่งประสานอินเตอร์โพล ออกหมายแดงล่าตัว “หมอบุญ” กลับมาดำเนินคดี