ภูมิภาค 20 ส.ค. – เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เร่งระบายน้ำ ส่วน จ.นครพนม ระดมเครื่องสูบน้ำติดริมน้ำโขง พร้อมเร่งระบายน้ำ ด้านยโสธร แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ที่อาศัยอยู่และทำกินตามลำน้ำชีตอนล่าง ยกข้าวของขึ้นที่สูง
กรมอุตุนิยมวิทยาห่วงสถานการณ์ฝนตกหนักระหว่างวันที่ 20-22 สิงหาคมนี้ ออกประกาศเตือนฉบับที่ 4 ให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังฝนตกหนักถึงหนักมาก และเกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน ขณะที่หลายจังหวัดเร่งเตรียมแผนรับน้ำ
ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย ฉบับที่ 4 (207/2565) (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 20-22 สิงหาคม 2565) โดยในช่วงวันที่ 20-22 สิงหาคม 2565 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตราย จากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่ม จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งมีดังนี้
วันที่ 20 สิงหาคม 2565 ภาคเหนือ : จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง : จังหวัดลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด ภาคใต้ : จังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต
วันที่ 21 สิงหาคม 2565 ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
ภาคตะวันออก : จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา และภูเก็ต
วันที่ 22 สิงหาคม 2565 ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลพพูน ลำปาง สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา และบุรีรัมย์
ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
ภาคตะวันออก : จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา
เขื่อนเจ้าพระยาเร่งระบายน้ำ
ส่วนที่ จ.ชัยนาท สถานการณ์น้ำเจ้าพระยา วันนี้ เมื่อเวลา 06.00 น. น้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2 นครสวรรค์ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 44 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ทั้งนี้ กรมชลประทานเตรียมปรับการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ในช่วงวันที่ 20-24 สิงหาคมนี้ เนื่องจากคาดจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มเจ้าพระยา ไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง จะมีปริมาณระหว่าง 1,900-2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรมชลประทานจึงต้องทยอยปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จาก 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไปจนถึงอัตรา 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยเริ่มทยอยปรับตั้งแต่วันนี้
ในช่วงวันที่ 23-25 สิงหาคม 2565 จะปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,500-1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 40-80 เซนติเมตร จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย เตรียมรับสถานการณ์ และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ระดมเครื่องสูบน้ำประจำ 4 อำเภอ ติดริมโขง พร้อมเร่งระบายน้ำ
ที่ จ.นครพนม ระดับน้ำโขงยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องวันละประมาณ 20-30 เซนติเมตร ล่าสุดวัดได้อยู่ที่ 8.50 เมตร ห่างจากจุดวิกฤติล้นตลิ่งเพียงแค่ 4 เมตร จากจุดกำหนดไว้ 13 เมตร โดย 4 อำเภอ พื้นที่เสี่ยงติดน้ำโขง ประกอบด้วย อ.บ้านแพง อ.ท่าอุเทน อ.เมือง และ อ.ธาตุพนม ยังเฝ้าระวังป้องกันน้ำโขงหนุนลำน้ำสาขา
โดยทางเทศบาลเมืองนครพนม ยังเดินเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ที่ติดตั้งเสริมรวม 4 จุด เพื่อเร่งระบายน้ำจากพื้นที่ชุมชนตัวเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ไหลระบายลงน้ำโขง ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับมือฝนตกหนักต่อเนื่อง หลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนจะมีฝนตกหนักในช่วง 2-3 วัน เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง รอระบายลงน้ำโขง
ด้านโครงการชลประทานนครพนม และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ประเมินสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากปริมาณเก็บกักน้ำในลำน้ำก่ำเริ่มเพิ่มขึ้น ล่าสุดมีปริมาณเก็บกัก ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของความจุ จึงต้องเร่งระบายน้ำจากลำน้ำก่ำ ที่รองรับมวลน้ำมาจากหนองหาร จ.สกลนคร
เขื่อนยโสธรแขวนบานประตูระบายน้ำ
ที่ยโสธร เขื่อนยโสธร อิทธิพลของพายุดีเปรสชันมู่หลาน ทำให้มีปริมาณฝนตกหนักทางตอนบนและตลอดพื้นที่ลำน้ำชี ส่งผลให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาซีล่างและเซบายล่าง ประกาศเรื่องแขวนบานประตูระบายน้ำ (ยกบานพันน้ำ) พร้อมแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ที่อาศัยอยู่และทำกินตามลำน้ำชีตอนล่าง เก็บอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ในการทำการประมงและทำการเกษตร เช่น เครื่องสูบน้ำ ตาข่ายดักปลา เรือ ตลอดจนการปรับระดับแพสูบน้ำด้วยไฟฟ้าตามระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น/ลดลง และยกข้าวของขึ้นที่สูง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบและก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน.-สำนักข่าวไทย