ซิดนีย์ 25 ก.พ. – รัฐสภาออสเตรเลียลงมติผ่านร่างกฎหมายใหม่ในวันนี้ ซึ่งมีข้อกำหนดที่ส่งผลให้เว็บไซต์ค้นหาข้อมูลอย่างกูเกิล ของอัลฟาเบท อิงค์ และเฟซบุ๊ก อิงค์ ต้องจ่ายเงินให้กับบริษัทสื่อต่างๆ ในการซื้อเนื้อหาข่าว หรือคอนเทนต์ ที่นำไปใช้ในแพลตฟอร์มของตน ซึ่งเป็นการปฎิรูปที่เชื่อว่าจะเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆ ใช้เป็นแนวทางในออกกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้
ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอย่างง่ายดาย หลังจากมีการปรับแก้ในนาทีสุดท้ายให้มีความเข้มงวดน้อยลง ภายหลังเกิดการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลออสเตรเลียกับเฟซบุ๊ก จากกรณีที่เฟซบุ๊กคัดค้านร่างกฎหมายนี้ พร้อมทั้งต่อต้านด้วยการปิดกั้นเนื้อหาข่าวต่างๆ ไม่ให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กในออสเตรเลียได้เข้าถึงเนื้อหาข่าวได้ การปรับแก้ร่างกฎหมายนี้เกี่ยวข้องในส่วนที่ให้อำนาจรัฐบาลในการตัดสินใจที่จะไม่บังคับให้เฟซบุ๊กและกูเกิลต้องเข้าสู่กระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ หากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้งสอง “สร้างคุณประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญ” ให้กับอุตสาหกรรมข่าวของออสเตรเลีย
นอกจากนั้นยังขยายกำหนดช่วงเวลาให้ยาวนานขึ้นเพื่อให้บริษัทเทคโนโลยีเจรจาหาทางบรรลุข้อตกลงกับบริษัทผลิตสื่อเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องจ่าย ก่อนที่รัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงหากบรรลุข้อตกลงกันไม่ได้
อย่างไรก็ตาม สมาชิกรัฐสภาออสเตรเลียบางคนและสำนักพิมพ์บางแห่ง เตือนว่าการปรับแก้ร่างกฎหมายจะทำให้บริษัทสื่อขนาดเล็กๆ ถูกลืมอย่างไม่เป็นธรรม ในขณะที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและเฟซบุ๊คกต่างอ้างว่าฝ่ายตนได้รับชัยชนะจากการปรับแก้กฎหมายนี้ ความเคลื่อนไหวเรื่องการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ของออสเตรเลียเป็นที่จับตามองทั่วโลก เนื่องจากหลายประเทศ รวมทั้งอังกฤษและแคนาดา กำลังพิจารณาออกกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้เพื่อควบคุมแพลตฟอร์มของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เช่นกัน.-สำนักข่าวไทย