สิงคโปร์ 11 ก.ค.- การเมืองสิงคโปร์อาจเปลี่ยนไปเป็นประชานิยมมากขึ้น เมื่อพรรคกิจประชาชนหรือพีเอพี (PAP) ได้ที่นั่งในรัฐสภาน้อยที่สุดในรอบ 55 ปีที่บริหารประเทศ หลังการเลือกตั้งเมื่อวานนี้ ขณะที่พรรคฝ่ายค้านหลักได้ที่นั่งมากเป็นประวัติการณ์
สำนักงานการเลือกตั้งสิงคโปร์แจ้งผลการนับคะแนนว่า พรรคพีเอพีได้ 83 ที่นั่งหรือร้อยละ 89 ของที่มีการเลือกตั้งทั้งหมด 93 ที่นั่ง ครองเสียงข้างมากพอที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านร่างกฎหมาย และกำหนดนโยบายโดยไม่เผชิญอุปสรรคใหญ่ แต่น้อยกว่าที่ผ่านมาที่มักได้ที่นั่งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 93 นับตั้งแต่สิงคโปร์เป็นเอกราชในปี 2508 ขณะที่พรรคแรงงานที่เป็นพรรคฝ่ายค้านหลักได้ 10 ที่นั่ง มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
เว็บไซต์บลูมเบิร์กมองว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้อาจกระทบต่อแผนการส่งต่ออำนาจของนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุงที่แสดงท่าทีว่าจะลงจากตำแหน่งในปี 2565 และอาจทำให้รัฐบาลต้องหันไปในโยบายประชานิยมมากขึ้น เหมือนที่เคยทำหลังการเลือกตั้งปี 2554 ที่ฝ่ายค้านได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 3 เท่าเป็น 6 ที่นั่ง นายกรัฐมนตรีลี วัย 68 ปี ยอมรับในเช้าวันนี้ว่า ผลการเลือกตั้งสะท้อนถึงความเจ็บปวดและความไม่แน่ใจที่ชาวสิงคโปร์มีต่อวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
บลูมเบิร์กชี้ว่า ผลการเลือกตั้งสิงคโปร์อาจเป็นเครื่องเตือนรัฐบาลหลายประเทศที่ถูกตั้งคำถามเรื่องการรับมือกับโรคโควิด-19 ระบาด ที่กระทบเศรษฐกิจทั่วโลก นักวิเคราะห์บางคนมองว่า เป็นความปรกติใหม่หรือนิวนอร์มัลของการเมืองสิงคโปร์ว่า ลำพังปัญหาปากท้องอาจไม่ใช่ปัจจัยชี้ชะตาการเลือกตั้งอีกต่อไป ผู้ลงคะแนนต้องการตัวแทนในสภาที่มีความหลากหลายและความน่าเชื่อถือ รัฐบาลชุดใหม่มีภารกิจในการนำพาประเทศก้าวพ้นจากช่วงเวลาที่อลหม่านที่สุดครั้งหนึ่ง เมื่อโควิด-19 ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี (GDP) มีแนวโน้มหดตัวถึงร้อยละ 7 ในปีนี้ อัตราว่างงานไตรมาสแรกปีนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้รัฐบาลออกงบประมาณพิเศษเพื่อพยุงเศรษฐกิจมากถึง 93,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 2 ล้านล้านบาท) ก็ตาม.-สำนักข่าวไทย