โตเกียว 15 ต.ค.- ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อาหารกลางวันโรงเรียนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กชาวญี่ปุ่นมีโภชนาการที่ดีและเป็นโรคอ้วนน้อย
องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟเผยรายงานวันนี้ว่า ญี่ปุ่นติดอันดับสูงสุดในตารางดัชนีสุขภาพเด็ก มีอัตราทารกเสียชีวิตต่ำ และมีอัตราเด็กน้ำหนักตัวเกินต่ำ โดยมีอัตราเยาวชนวัย 5-19 ปี มีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วนร้อยละ 14.42 น้อยที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว มิตสึฮิโกะ ฮาระ กุมารแพทย์และนักวิชาการมหาวิทยาลัยโตเกียวกาเซกักคุอินกล่าวว่า นักโภชนาการเป็นผู้คิดรายการอาหารกลางวันโรงเรียนให้แก่นักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นทั่วญี่ปุ่น แม้ส่วนใหญ่ไม่ฟรีแต่ทางการให้เงินอุดหนุนเงินจำนวนมาก แต่ละมื้อมีสัดส่วนของคาร์โบไฮเดรต โปรตีนและผักอย่างสมดุล ให้พลังงานราว 600-700 แคลอรี โรงเรียนจะอธิบายส่วนประกอบสารอาหารในแต่ละมื้อ เป็นการให้ความรู้แก่เด็กไปในตัว
ด้านเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการเผยว่า อาหารกลางวันโรงเรียนออกแบบมาเพื่อชดเชยสารอาหารที่เด็กอาจได้รับไม่เพียงพอในมื้ออาหารที่บ้าน อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามกฎหมาย เพราะเด็กจะต้องเรียนรู้เรื่องการตักอาหารให้แก่ผู้อื่น ล้างจานหลังรับประทานเสร็จ และไม่สามารถเลือกรับประทานแต่อาหารที่ชอบ ญี่ปุ่นเริ่มโครงการอาหารกลางวันตั้งแต่ปี 2432 ครั้งนั้นเป็นการแจกข้าวปั้นและปลาย่างให้แก่เด็กยากจนในจังหวัดยามากาตะ ทางตอนเหนือของประเทศ ต่อมาได้ขยายเป็นโครงการทั่วประเทศเพื่อช่วยเหลือเด็กที่หิวโหยในภาวะขาดแคลนอาหารหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากอาหารกลางวันโรงเรียนที่มีคุณภาพแล้ว ชาวญี่ปุ่นยังตระหนักเรื่องการมีสุขภาพดี พยายามรับประทานอาหารให้หลากหลายและรับประทานอาหารตามฤดูกาล ขณะที่ทางการท้องถิ่นจะคอยเตือนผู้ปกครองให้นำทารกไปรับการตรวจสุขภาพ ส่วนโรงเรียนก็จะวัดน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กอย่างสม่ำเสมอ.- สำนักข่าวไทย