อินโดนีเซีย 12 มิ.ย.-ไอยูซีเอ็น ระบุปัจจุบันลิงอุรังอุตังบอร์เนียว ลดลงเกือบ 2 ใน 3 ตั้งแต่ปี 1970 และใกล้สูญพันธุ์ คณะวิจัยเร่งศึกษาความเป็นอยู่ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ หวังช่วยอนุรักษ์ลิงชนิดนี้
รายงานจากสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือไอยูซีเอ็น ระบุ ตั้งแต่ต้นทศวรรษปี 1970 เป็นต้นมา ลิงอุรังอุตังบอร์เนียว ลดจำนวนลงเกือบ 2 ใน 3 ส่งผลให้ปัจจุบันลิงอุรังอุตังบอร์เนียว เป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงในระดับวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ สาเหตุหนึ่งเกิดจากที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของลิงอุรังอุตังบอร์เนียว ถูกทำลายกลายเป็นพื้นที่การเกษตร
ความพยายามอนุรักษ์ลิงอุรังอุตังบอร์เนียวเริ่มมีความหวัง เมื่อหน่วยงานอนุรักษ์สัตว์ป่า และกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ร่วมมือกันนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในโครงการอนุรักษ์ลิงอุรังอุตังบอร์เนียว
คณะนักวิจัยนำกล้องจับความร้อนมาติดกับโดรนเพื่อบินสำรวจจำนวนของลิงที่เหลืออยู่ รวมทั้งติดตามความเป็นอยู่ของลิงอุรังอุตังบอร์เนียว จากการใช้โดรนบินสำรวจ 28 เที่ยว ระยะเวลา 6 วัน คณะนักวิจัยพบลิงอุรังอุตังบอร์เนียว จำนวน 41 ตัว นอกจากนี้ ยังพบฝูงลิงจมูกยาวจำนวนหนึ่ง
คณะนักวิจัย ระบุ ช่วงเวลาปล่อยโดรนบินสำรวจต้องทำในช่วงกลางคืนหรือรุ่งสาง เนื่องจากตอนกลางวัน อุณหภูมิในป่าจะใกล้เคียงกับอุณหภูมิของตัวลิง แต่เวลากลางคืนอุณหภุมิในป่าจะเย็นลง ส่งผลให้ตรวจจับความร้อนจากลิงได้ง่ายขึ้น
ไอยูซีเอ็น ประกาศให้ลิงอุรังอุตังบอร์เนียวเป็นสัตว์ใกล้จะสูญพันธุ์เมื่อปี 2016 หลังปัญหาการใช้พื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืชและการไล่ล่า ส่งผลให้ลิงอุรังอุตังที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติลดลงไปหลายหมื่นตัว และในช่วงระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ คาดว่า มีพื้นที่ป่ามากกว่า 21 ล้านไร่ ถูกทำลายเพื่อใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมัน.-สำนักข่าวไทย