การากัส 25 พ.ค.- เวเนซุเอลาซึ่งประเทศแรกของโลกที่กำจัดมาลาเรียได้ในปี 2504 กลับมามีมาลาเรียอีกครั้งเมื่อ 7 ปีก่อน และถึงขั้นระบาดในปี 2559 เนื่องจากรัฐไม่ได้ลงทุนเรื่องการป้องกันและรักษา
ศูนย์มาลาเรียศึกษาในกรุงการากัสที่เปิดตั้งแต่ปี 2516 เป็นที่พึ่งเดียวของผู้ปวยมาลาเรียในเวเนซุเอลา แต่ละวันมีผู้ป่วยเดินทางมาจากทั่วประเทศเพื่อรับการตรวจและรับยาประมาณ 20-30 คน ศูนย์ได้รับทุนด้านการวิจัยจากรัฐจนถึงปี 2550 หลังจากนั้นก็ได้รับน้อยลงจนกระทั่งไม่ได้รับอีกเลย ทำให้สภาพภายในศูนย์ขณะนี้ซอมซ่อ อุปกรณ์ใช้งานมานานจนเก่าและโทรม บางอย่างใช้การไม่ได้ เพราะไม่มีงบซื้อใหม่หรือซ่อมแซม ค่าใช้จ่ายตกเดือนละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 31,818 บาท) เจ้าหน้าที่ 8 คน ได้ค่าจ้างเพียงเดือนละ 7-11 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 222-350 บาท) ทั้งที่ควรได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4,000-5,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 127,273-159,090 บาท) ทางศูนย์จึงต้องพึ่งพาเงินบริจาคเป็นหลักและพยายามเสนอโครงการวิจัยไปยังมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ
องค์การอนามัยโลกเผยว่า เวเนซุเอลาแจ้งว่า มีผู้ป่วยมาลาเรียกว่า 400,000 คนในปี 2560 มากที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปอเมริกา แต่ทางศูนย์เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะเกือบแตะ 2 ล้านคน เพราะปีที่แล้วปีเดียวรักษาผู้ป่วยไป 3,500 คน มากกว่าในอดีตถึง 150 เท่า แต่จำนวนเจ้าหน้าที่ในศูนย์ยังเท่าเดิม รัฐบาลเวเนซุเอลางดตีพิมพ์เอกสารเรื่องการระบาดวิทยาในปี 2559 หลังจากยอมรับว่ามีผู้ป่วยมากถึง 240,000 คน เศรษฐกิจเวเนซุเอลาเข้าสู่ภาวะวิกฤตเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ประชาชนขาดแคลนสิ่งจำเป็นพื้นฐานอย่างอาหารและยา หลังจากการผลิตน้ำมันที่เป็นรายได้เพียงอย่างเดียวของประเทศลดลงฮวบฮาบในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ (IMF) คาดว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้จะสูงถึงหนึ่งแสนเท่า.-สำนักข่าวไทย