แซนดีเอโก 13 พ.ย.- อาจารย์ด้านจิตวิทยาชาวอเมริกันชี้ว่า สมาร์ทโฟนทำให้เกิดคนยุคไอเจน (iGen) เป็นคนรุ่นที่ไม่พอใจและบ่นได้ทุกเรื่อง พร้อมกับมีคำแนะนำการเลี้ยงลูกในยุคไอเจน
ดร.จีน มารี ทเวงกี นักจิตวิทยาวัย 47 ปี มหาวิทยาลัยรัฐแซนดีเอโก ผู้เขียนหนังสือเรื่อง iGen และ Generation Me อธิบายว่า ไอเจนคือคนที่เกิดตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นไป เป็นคนรุ่นแรกที่ใช้ชีวิตวัยรุ่นทั้งหมดไปกับสมาร์ทโฟนทั้งออนไลน์ สื่อโซเชียลและการเล่มเกม โตเป็นผู้ใหญ่ช้ากว่าคนรุ่นก่อน ส่วนใหญ่ยังไม่มีใบขับขี่ ไม่เคยทำงานพิเศษ ดื่มสุรา หรือไปเที่ยวเองโดยไม่มีพ่อแม่ก่อนอายุ 18 ปี คนรุ่นนี้อาจมีความรู้สึกปลอดภัยในชีวิตมากที่สุดเมื่อเทียบกับคนรุ่นอื่น ๆ แต่ก็มีความรู้สึกลึก ๆ ว่าขาดอะไรบางอย่าง หลายคนเริ่มตระหนักว่าการอยู่กับสมาร์ทโฟนตลอดเวลาอาจไม่ใช่วิถีชีวิตที่ดีที่สุด
ดร.ทเวงกีเผยว่า ผลการวิจัยปี 2554-2555 พบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นอย่างกะทันหันมากขึ้น ทั้งความรู้สึกโดดเดี่ยว ถูกทิ้ง ชีวิตไร้ค่า ทั้งหมดเป็นอาการของภาวะซึมเศร้า ช่วงหลายปีมานี้วัยรุ่นฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 2 เท่า วัยรุ่นหญิงทำร้ายตัวเอง เช่น กรีดแขนเพิ่มขึ้นสองถึงสามเท่า ช่วงเวลาที่สมาร์ทโฟนกลายเป็นสิ่งของในชีวิตประจำวัน ปัญหาทางจิตก็เริ่มเพิ่มขึ้น ผลการวิจัยหลายทศวรรษที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า การนอนหลับเพียงพอและการพูดคุยกับเพื่อนแบบเห็นหน้ากันจริง ๆ คือยาดีในการรักษาปัญหาทางจิต ขณะที่การจ้องจอวันละหลายชั่วโมงไม่ช่วยอะไร
ดร.ทเวงกีแนะนำผู้ปกครองที่เลี้ยงลูกในยุคนี้ว่า การใช้สื่อโซเชียลหรือดูคลิปดูวิดีโอจะเป็นประโยชน์สำหรับเด็กวัย 13-18 ปี หากสามารถจำกัดไม่ให้เกินวันละ 2 ชั่วโมง แต่หากต้องการให้ลูกมีโทรศัพท์ไว้คุย เพื่อให้มั่นใจว่าลูกถึงโรงเรียนแล้ว หรือกำลังจะกลับบ้านก็ให้ใช้โทรศัพท์ธรรมดาก็เพียงพอ.- สำนักข่าวไทย