นิวเดลี 19 เม.ย.- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอินเดียเกือบ 1,000 ล้านคนจะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกโลกสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 543 ที่นั่ง เริ่มตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 1 มิถุนายน โดยมีประเด็นหลักหลายประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ แม้ว่าผลการหยั่งเสียงชี้ว่า นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี และพรรคชาตินิยมฮินดูจะชนะในการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่สุดในโลกครั้งนี้
การพัฒนาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
คาดกันว่าเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวมากถึงร้อยละ 8 ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2567 อินเดียภายใต้การบริหารประเทศของโมดีมาตั้งแต่ปี 2557 ได้กระโดดขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลก จากเดิมอยู่ที่อันดับ 10 โมดีวัย 73 ปี รับปากว่าจะทำให้อินเดียเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลกหากได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งวาระ 5 ปีเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน อย่างไรก็ดี อานิสงส์ที่เกิดขึ้นกระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองใหญ่เท่านั้น เพราะประชาชนส่วนใหญ่ตามชนบทยังคงต้องเผชิญกับปัญหาข้าวของแพง อัตราเงินเฟ้อปีงบประมาณ 2565/2566 อยู่ที่ร้อยละ 6.7 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.5 ในปี 2564/2565 และร้อยละ 6.2 ในปี 2566/2567
นโยบายสวัสดิการ
ตั้งแต่เกิดโรคโควิด-19 ระบาด รัฐบาลโมดีได้แจกอาหารฟรีให้แก่ประชาชน 814 ล้านคนจากทั้งหมด 1,420 ล้านคนทั่วประเทศ มีเสียงวิจารณ์ว่า การที่รัฐบาลต้องเลี้ยงดูประชากรร้อยละ 60 ของประเทศสะท้อนว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจไปไม่ถึงคนทั่วประเทศ ข้อมูลของเวิลด์ อินอิควอลิตี้ แล็บ (World Inequality Lab) พบว่า นับจนถึงสิ้นปี 2566 กลุ่มคนรวยที่สุดในอินเดียถือครองทรัพย์สินร้อยละ 40.1 ของประเทศ และมีรายได้รวมกันร้อยละ 22.6 ของประเทศ โมดีและพรรคภารติยะ ชนะตะหรือบีเจพี (BJP) เอาใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นผู้หญิงด้วยการชูนโยบายส่งเสริมสวัสดิการ เช่น แจกเงินสด ดูแลเรื่องน้ำประปา ไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม
การปลุกกระแสฮินดู
นายกรัฐมนตรีโมดีเป็นประธานเปิดวัดพระรามในเมืองอโยธยาเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ บนที่ตั้งที่เชื่อกันว่าเป็นที่ประสูติของพระองค์ ทำให้พรรคบีเจพีที่เป็นพรรคชาตินิยมฮินดูสามารถรักษาสัญญาที่ให้ไว้เมื่อ 35 ปีก่อน สถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของมัสยิดบาบรีสมัยศตวรรษที่ 16 และถูกม็อบชาวฮินดูทำลายลงเมื่อปี 2535 เพราะเชื่อว่าสร้างทับวัดฮินดู โมดียังตระเวนไปตามวัดฮินดูทั่วประเทศและเป็นข่าวโทรทัศน์อยู่เสมอ รัฐบาลของเขายกเลิกโครงการของรัฐบาลกลางที่สนับสนุนโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม และบังคับใช้กฎหมายพลเมืองที่ถูกวิจารณ์ว่าเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมที่เป็นคนกลุ่มน้อย เพราะให้สัญชาติอินเดียกับคนทุกศาสนายกเว้นอิสลาม โดยต้องเป็นผู้ที่หนีการข่มเหงทางศาสนาจากอัฟกานิสถาน บังกลาเทศ และปากีสถานมาอินเดียก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2557
ปัญหาทุจริตรับสินบน
หน่วยงานของรัฐบาลอินเดียที่สอบสวนเรื่องการฟอกเงินสอบปากคำ บุกค้น หรือจับกุมนักการเมืองฝ่ายค้านเกือบ 150 คนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่สอบสวนนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลไม่ถึง 10 คน นายอาร์วินด์ เกจรีวัล มุขมนตรีดินแดนเมืองหลวงแห่งชาติเดลีและแกนนำฝ่ายค้านถูกจับกุมข้อหาทุจริตเมื่อต้นเดือนนี้ ขณะที่พรรคคองเกรสที่เป็นฝ่ายค้านหลักก็เผชิญกับคดีภาษีมากมาย ฝ่ายค้านกล่าวหารัฐบาลว่า ใช้หน่วยงานรัฐเล่นงานพวกเขา
อัตราว่างงาน
โมดีหาเสียงเลือกตั้งในปี 2557 ว่าจะทำให้คนหนุ่มสาวชาวอินเดียมีงานทำ แต่ผ่านมา 10 ปี คำมั่นนี้ยังไม่เห็นผล ข้อมูลของหน่วยงานเอกชนระบุว่า อัตราว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์สูงถึงร้อยละ 8 ขณะที่ข้อมูลของรัฐบาลระบุว่า อัตราว่างงานในปีงบประมาณสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 5.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.9 ในปีงบประมาณก่อนโมดีรับตำแหน่ง และว่าคนหนุ่มสาวในเขตเมืองวัย 15-29 ปี ว่างงานราวร้อยละ 16 เพราะขาดทักษะในการทำงานและงานที่มีอยู่ไร้คุณภาพ
เกษตรกร
พรรคบีเจพีรับปากในการเลือกตั้งครั้งหลังสุดเมื่อปี 2562 ว่า จะเพิ่มรายได้เกษตรกรเป็น 2 เท่าภายในปี 2565 แต่ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะเป็นจริง รัฐบาลโมดีได้ออกกฎหมายปฏิรูปภาคการเกษตร 3 ฉบับที่ทำให้เกษตรกรไม่พอใจและประท้วงใหญ่ จนต้องถอนกฎหมายออกไปในปี 2564 และในปีนี้เกษตรกรได้รวมตัวชุมนุมตามท้องถนนอีกครั้ง เรียกร้องให้เพิ่มการประกันราคาผลผลิตทางการเกษตร แต่การชุมนุมก็สลายตัวไปภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์
สถานภาพบนเวทีโลก
พรรคบีเจพีมักอ้างว่า อินเดียมีสถานภาพบนเวทีโลกสูงขึ้นเพราะเป็นผลงานของนายกรัฐมนตรีโมดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดกลุ่มจี 20 เมื่อปี 2566 และการที่สามารถอพยพชาวอินเดียที่ติดค้างอยู่ในยูเครนหลังจากรัสเซียเปิดฉากโจมตี
TNA News-Now-Next: Final Thoughts
แม้ว่าโมดีและพรรคบีเจพีมีแนวโน้มจะชนะเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 ได้บริหารประเทศประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ต่อไปอีก 5 ปี แต่ผลงานตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ยังมีหลายประเด็นที่ไม่สามารถทำตามที่ได้หาเสียงไว้ และมีหลายประเด็นที่อาจจุดกระแสประท้วงไม่พอใจขึ้นมาอีก ผลคะแนนเลือกตั้งที่จะมีการนับในวันที่ 4 มิถุนายนจะเป็นเสียงสะท้อนว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอินเดียพึงพอใจกับการทำงานของเขาหรือไม่ และต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรเพื่อให้สมกับที่ประชาชนให้ความไว้วางใจ.-814.-สำนักข่าวไทย