โตเกียว 30 พ.ค.- ญี่ปุ่นเปิดตัวชุดนโยบายอย่างครอบคลุมเพื่อลดปริมาณละอองฟางที่ทำให้มีประชากรมากกว่าร้อยละ 40 เป็นไข้ละอองฟาง โดยตั้งเป้าจะลดปริมาณละอองฟางลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายใน 30 ปี
เว็บไซต์สำนักข่าวเกียวโดนิวส์ รายงานว่า นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ กล่าวในการประชุมรัฐมนตรีเรื่องไข้ละอองฟางในวันนี้ว่า จำเป็นต้องให้ความสนใจในเรื่องนี้อย่างจริงจังและดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในชั่วข้ามคืน รัฐบาลจะลดพื้นที่ปลูกต้นซีดาร์ที่เป็นไม้สนตระกูลไม่ผลัดใบลงร้อยละ 20 ในช่วงทศวรรษหน้า ด้วยการตัดทิ้งปีละ 437,500 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ตัดทิ้งปีละ 312,500 ไร่ จะปลูกต้นไม้ที่มีละอองฟางน้อยแทนที่ต้นซีดาร์ที่ยังไม่โตเต็มที่ในจำนวนมากกว่าร้อยละ 90 ภายใน 10 ปี จะเพิ่มการผลิตยาภูมิคุ้มกันบำบัด เพื่อบรรเทาอาการไข้ละอองฟางให้เพียงพอสำหรับประชาชน 1 ล้านคน จากปัจจุบันที่มีเพียง 250,000 คน จะใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ปรับปรุงความแม่นยำในการพยากรณ์ละอองฟางและการให้ข้อมูลของสำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น จะสนับสนุนให้ผู้สร้างบ้านใช้ไม้จากต้นซีดาร์ในประเทศ และให้ธุรกิจอนุญาตให้คนทำงานจากบ้าน เพื่อลดการได้รับละอองฟางจากนอกบ้าน
ญี่ปุ่นปลูกต้นซีดาร์จำนวนมากในช่วงที่บูรณะฟื้นฟูประเทศหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการ แต่มีผลสำรวจของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก ว่า ปี 2562 คนในญี่ปุ่นเป็นไข้ละอองฟางร้อยละ 42.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 29.8 ในปี 2561 และร้อยละ 19.6 ในปี 2541 ผู้เป็นไข้ละอองฟางจะมีอาการน้ำมูกไหล จาม คันตา โดยมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ.-สำนักข่าวไทย