แซนดีเอโก 14 มี.ค.- ออสเตรเลียประกาศแผนการซื้อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จากสหรัฐจำนวนสูงสุด 5 ลำ จากนั้นจะต่อเรือดำน้ำรุ่นใหม่ด้วยเทคโนโลยีจากสหรัฐและอังกฤษ ตามแผนการสร้างเสริมอิทธิพลของชาติตะวันตกในเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อคานอิทธิพลของจีน
นายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบาเนซีของออสเตรเลียประกาศเรื่องนี้ในงานที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐจัดต้อนรับเขาและนายกรัฐมนตรีริชี ซูนักของอังกฤษที่ฐานทัพเรือสหรัฐในเมืองแซนดีเอโก รัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น ผู้นำออสเตรเลียกล่าวว่า ข้อตกลงนี้เป็นการลงทุนในศักยภาพการป้องกันประเทศครั้งเดียวและครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ เรือดำน้ำล่องหนขับเคลื่อนด้วยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จะติดขีปนาวุธร่อนที่สามารถโจมตีศัตรูได้จากระยะไกล ทำให้สามารถป้องปรามผู้ประสงค์ร้ายได้ ขณะเดียวกันจะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้างเหมือนเมื่อครั้งที่ออสเตรเลียริเริ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลออสเตรเลียประเมินว่า โครงการเรือดำน้ำจะทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 20,000 ตำแหน่ง
นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่า สหรัฐจะจำหน่ายเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ชั้นเวอร์จิเนียที่สามารถติดอาวุธทั่วไปจำนวน 3 ลำให้แก่ออสเตรเลียในช่วงคริสต์ทศวรรษปี 2030 และอาจจำหน่ายให้สูงสุด 5 ลำหากจำเป็น หลังจากนั้นออสเตรเลียและอังกฤษจะร่วมกันต่อเรือดำน้ำรุ่นใหม่ที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์และสามารถติดอาวุธทั่วไป เรือรุ่นใหม่นี้มีชื่อว่า เอสเอสเอ็น-ออคัส (SSN-AUKUS) ออกแบบโดยอังกฤษ และใช้เทคโนโลยีของสหรัฐ
เดิมออสเตรเลียสั่งซื้อเรือดำน้ำพลังงานดีเซลจากฝรั่งเศสมูลค่า 66,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.27 ล้านล้านบาท) เพื่อทดแทนกองเรือดำน้ำพลังงานดีเซลที่ใช้งานมานาน แต่ออสเตรเลียได้ประกาศฉีกข้อตกลงดังกล่าวขณะเข้าร่วมกติกาสัญญาความมั่นคงไตรภาคีระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักรและสหรัฐ หรือออคัส (AUKUS) เมื่อเดือนกันยายน 2564 ด้านจีนเตือนว่า การตั้งกลุ่มนี้เสี่ยงเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันกันสั่งสมอาวุธ และขัดขวางความพยายามห้ามแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์.-สำนักข่าวไทย