กรุงเทพฯ 30 มี.ค.-กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.50 ปรับลดจีดีพีปี 65 ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากเดิมร้อยละ 3.4 แนะใช้นโยบายคลังฟื้นเศรษฐกิจอย่างตรงจุด หลังโควิดเริ่มฟื้นตัวในต้นปี 66
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 30 มีนาคม มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี
ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากเดิมคาดการณ์ร้อยละ 3.4 และปี 66 ขยายตัวร้อยละ 4.4 จากเดิมร้อยละ 4.7 สาเหตุจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว แม้มาตรการคว่ำบาตรรัสเชียจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการปรับขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และความต้องการของต่างประเทศชะลอลง
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2565 คาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 4.9 และในปี 2566 ลดลงมาร้อยละ 1.7 โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 5 ในไตรมาสที่ 2 และ 3 เมื่ออัตราเงินเฟ้อหลุดกรอบนโยบายร้อยละ1-3 จึงเตรียมทำหนังสือเปิดผนึกชี้แจงถึงกระทรวงการคลัง หลังจากลงนามร่วมกันระหว่างคลัง-ธปท. ซึ่งเคยทำหนังสือมาแล้ว ครั้งหนึ่งในช่วงที่ผ่านมา แต่มองเห็นปัจจัยบวก เมื่อแนวโน้มอัตราเงินลดลงในปีหน้า
เมื่อเงินเฟ้อลดลงจากจากร้อยละ 4.9 ในปี 65 มาอยู่ร้อยละ 1.7 ในปี 2566 เพราะฐานราคาในปีนี้สูง จึงดูว่าลดลงสัดส่วนสูงมาก เพื่อปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 ส่วนหนึ่งจากราคาพลังงานคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ราคา 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลล์ และลดลงในราคา 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลล์ ในปี 66 จึงมองว่าหลังโควิดคลี่คลายในปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวในต้นปีหน้า มาตรการต่างๆ ของรัฐที่ออกมาตรถือว่าตรงจุดในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
คณะกรรมการฯ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง เพราะผลของการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่มากเท่าระลอกที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การขยายตัวของเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในบางอุตสาหกรรม ผลกระทบจากค่ครองชีพและตันทุนที่สูงขึ้นต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในกลุ่มเปราะบาง จพต้องติดตามปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด .-สำนักข่าวไทย