กรุงเทพฯ 21 ก.พ. – SCB EIC –ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ตรงกัน ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 26 ก.พ.นี้ จะยังคงดอกเบี้ยนโยบาย ที่ ระดับ 2.25% ต่อเนื่อง โดยรอดูนโยบายภาษี “ทรัมป์”
แม้ว่าภาคการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรีจะส่งสัญญาณว่า กนง.ควรลดดอกเบี้ยเพื่อร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว และบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจะมีการประชุมในเร็วๆ นี้ ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย วิจัยเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธ.ไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า กนง. วันที่ 26 ก.พ.นี้ คงอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง กนง.น่าจะรอดูลผลกระทบความเสี่ยงจากนโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยประธานนาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทยอยรายการขึ้นภาษีมาอย่างต่อเนื่อง คาดจะมีความชัดเจนในเดือนเมษายนนี้ และคาด กนง.อาจลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง ในปีนี้ ในไตรมาส 2/68
ดร.ฐิติมา กล่าวว่า SCB EIC อยู่ระหว่างทบทวนคาดการณ์จีดีพีไทยปี 68 ซึ่งคาดว่าจะชะลอลง มากกว่าปีที่ผ่านมาที่ สภาพัฒน์ประกาศจีดีพีปี 67 โต 2.5% โดยเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการขึ้นภาษีของสหรัฐแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าบริโภคของไทยเปราะบาง โดยแม้ไตรมาส 4/67 แม้จะมีเงิน 1 หมื่นบาท ทยอยเข้าระบบ แต่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย สะท้อนความเปราะบางของการบริโภค บางส่วนนำไปออมเพื่ออนาคต บางส่วนนำใช้หนี้ เพราะหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง โดยภาพนี้จะยังคงส่งมาถึง/ไตรมาส 1 และ 2 ปีนี้ แม้จะมีเงิน 10,000 บาทเข้าเพิ่มเติมและมีการช้อปลดหย่อนภาษี EASY –E- Receipt ก็ตาม ในขณะที่ภาคการส่งออกปีนี้ก็จะชะลอตัวจากปีที่แล้ว โต 5% โดยปีที่แล้วรวมถึงไตรมาส 1/68 ส่งออกเร่งตัวเพราะหวั่นภาษีสหรัฐ ดังนั้น ในช่วงที่เหลือก็จะชะลอลง

“เศรษฐกิจปีนี้มีความเสี่ยงจากภาษีสหรัฐ เศรษฐกิจโลก การใช้จ่ายของรัฐ ก็จะเป็นตัวช่วย ในขณะที่การท่องเที่ยวอาจไม่โตมากนัก เพราะหลังโควิด-19 การท่องเที่ยวโตมาอย่างต่อเนื่อง และปีนี้นักท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบจาก เศรษฐกิโลก จึงมองว่าทุกภาคส่วน รัฐ-เอกชน-ประชาชนต้องปรับตัวทำแผนระยะสั้น กลาง ยาว ทั้งเติมสภาพคล่อง ทั้งแผนสร้างความ เข้มแข็งของประเทศ กระจายสินค้าส่งออกไปตลาด อื่นๆ ลดตลาดสหรัฐ ประชาชน ก็ต้องระมัดระวังความไม่แน่นอน เพราะจะมีผลต่อการจ้างงาน การค้าขาย การใช้จ่ายก็ต้องไม่สร้างหนี้ใหม่ เคลียร์หนี้” ดร.ฐิติมา กล่าว
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในการประชุมวันที่ 26 ก.พ. มีแนวโน้มรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจไทยภายใต้ความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงจากนโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ คาด กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 1-2 ครั้ง โดย กนง. คงให้น้ำหนักกับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินภายในประเทศเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568 จากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก โดยการส่งออกของไทยในปี 2568 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากผลกระทบของสงครามการค้ารอบใหม่ ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากภาคการผลิตที่ยังไม่ฟื้นตัว และการใช้จ่ายของครัวเรือนที่มีโมเมนตัมชะลอลงท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือนได้จำกัดและในระยะสั้นเท่านั้น. -511-สำนักข่าวไทย