คมนาคม 9 ก.พ.- ก.คมนาคมชี้แจงปัญหาขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว พร้อมโชว์ตัวเลขที่เป็นผลการศึกษาของ กทม. เอง ชี้ชัดว่าหลังหมดสัมปทาน หากภาครัฐเป็นผู้บริหารการเดินรถเอง จะเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งเรื่องการมีกระแสเงินสดเหลือที่มากกว่า และการกำหนดราคาค่าโดยสารที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมผู้บริหารกรมการขนส่งทางราง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย แถลงชี้แจงประเด็นปัญหาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังจากก่อนหน้านี้ 7 รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย ลาประชุม ครม. เพื่อไม่ร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบวาระผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่กระทรวงมหาดไทเสนอเข้าสู่ที่ประชุม
โดยกระทรวงคมนาคม ยืนยัน 4 ประเด็นสำคัญที่เคยเสนอความเห็นแก่คณะรัฐมนตรี
- กระทรวงคมนาคมยึดหลักความถูกต้องและผลประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับค่าโดยสารที่จะมีจากปัจจุบันไปถึงปี 2602 ซึ่งเห็นว่ารถไฟฟ้าทุกระบบจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบตั๋วร่วม เพื่อให้เกิดอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรม
- โครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม. ที่ผ่านมา มีบันทึกข้อตกลงกำหนด ให้กทท. เข้าพื้นที่ เพื่อจัดเดินรถให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนเท่านั้น โดย รฟม.ไม่ได้รับทราบหนี้สินในส่วนที่กทม.ไปว่าจ้างเอกชนเดินรถ
- ในขณะที่กรมการขนส่งทางรางได้เผยข้อมูลตามผลศึกษาที่เป็นของกรุงเทพมหานครเองเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์ โครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีเขียวในช่วงระยะเวลาที่ถูกอ้างอิงว่าจะมีการขยายสัมปทานถึงปี 2602 มีตัวเลขชัดเจนว่ากรณีหมดสัมปทานและรัฐเป็นผู้ดำเนินการเองระหว่างปี 2562 – 2602 โครงการจะมีกระแสเงินสดสุทธิเป็น 467,822 ล้านบาท แต่หากเอกชนดำเนินการ กระแสเงินสด 32,690 ล้านบาท หักลบแล้วหากรัฐเป็นผู้ดำเนินการเดินรถเองจะทำให้รัฐมีกระแสเงินสดมากกว่าเอกชนดำเนินการ 435,132 ล้านบาท และที่สำคัญ การที่รัฐเป็นผู้บริหารโครงข่ายเองจะมีนัยยะสำคัญในการกำหนดค่าแรกเข้าของโครงข่ายระบบไฟฟ้าทั้งหมดเป็นอัตราที่เหมาะสมและช่วยแก้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชน ทำให้ผู้โดยสารทุกกลุ่มสามารถเข้าใช้บริการรถไฟฟ้าได้
- ที่ผ่านมา รฟม .ยังยืนยันถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างและที่ดินตลอดแนวโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วง และปัจจุบันยังไม่สามารถโอนหนี้สิน จากการก่อสร้างช่วงหมอชิต-คูคต และกระทรวงคมนาคม ได้ทำหนังสือทวงถามถึง กทม. เป็นระยะแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ
ท้ายสุดปลัดกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่าปัญหาเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้มีการนัดหมายเบื้องต้นระหว่างกระทรวงคมนาคม จะมีการหารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร ภายในเดือนนี้ .-สำนักข่าวไทย