กรุงเทพฯ 20 ก.พ.-“มนพร” รมช.คมนาคม เร่งเพิ่มขีดความความสามารถท่าเรือแหลมฉบังหารือ “Til” ดันความร่วมมือรอรับการเพิ่มตู้สินค้าในอนาคต
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับ Mr. Raphaël Boden รองผู้อำนวยการด้านการลงทุนท่าเรือ Terminal Investment Limited (TiL) และคณะ ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจบริหารท่าเรือสำหรับตู้สินค้า มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ บริหารท่าเรือใน 31 ประเทศ ตามเส้นทางการเดินเรือหลักทั่วโลก เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม สเปน การหารือกับ TiL ในครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงทุน เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 และการลงทุนในท่าเรือใหม่ E1 และ E2
รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมได้มุ่งมั่นผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งสินค้าและเพิ่มขีดความสามารถของ ทลฉ. ให้สอดรับกับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคอินโดจีนและเป็นจุดเชื่อมโยงไปสู่จีนและอินเดีย อันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในเชื่อมโยงการขนส่งสินค้า ตามแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก รวมถึงมีเป้าหมายในการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อผลักดันให้ ทลฉ. พัฒนาสู่การเป็น Green Port ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการรักษาความยั่งยืนของโลกและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต
นางมนพร กล่าวต่อว่า โครงการพัฒนา ทลฉ. ระยะที่ 3 มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการรองรับปริมาณตู้สินค้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยปัจจุบันสามารถรองรับตู้สินค้าได้ 11.1 ล้าน TEU/ปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 10 ล้าน TEU/ปี ในปี 2568 ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าของประเทศ แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก ได้แก่ งานก่อสร้างทางทะเล งานก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือและระบบสาธารณูปโภค งานก่อสร้างระบบรถไฟ และงานจัดหาเครื่องมือและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนที่กำหนด โดยคาดว่าจะสามารถให้บริการท่าเทียบเรือ F1 ได้ในปี 2570 และจะก่อสร้างท่าเทียบเรือ F2 ในปี 2572 กำหนดเปิดให้บริการในปี 2574
นางมนพร กล่าวอีกว่า จากรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการพัฒนา ทลฉ. ระยะที่ 3 กำหนดไว้ว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการในขั้นตอนการคัดเลือกบริษัทเอกชน เพื่อร่วมลงทุนท่าเทียบเรือ E พร้อมทั้งลงนามสัญญาในปี 2572 เพื่อให้สามารถก่อสร้างเทียบเรือ E0 ได้ในปี 2573 และเปิดให้บริการในปี 2575 ส่วนท่าเทียบเรือ E1 และ E2 จะเริ่มก่อสร้างในปี 2575 และปี 2577 ตามลำดับ
ทั้งนี้ นางมนพร ได้กล่าวขอบคุณ Mr. Raphaël Boden และคณะผู้แทนจากบริษัท Terminal Investment Limited (TiL) รวมถึงบริษัท Mediterranean Shipping Company (MSC) ที่ให้ความสนใจในการร่วมลงทุนในโครงการพัฒนา ทลฉ. ระยะที่ 3 และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่การขยายความสัมพันธ์และความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในอนาคตต่อไป.-513.-สำนักข่าวไทย