ทำเนียบฯ 1 ก.พ.-ครม.เคาะแล้วโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 65 คาดกลุ่มเป้าหมาย 20 ล้านคน สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการแห่งรัฐอย่างครบวงจร
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 และเห็นชอบร่างประกาศ คกก.ฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการดำเนินงาน และความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการฯ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งช่วยเหลือกลุ่มตกหล่นให้สามารถเข้าถึงโครงการฯ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ประชาชนผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 20 ล้านคน (ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ เดิมและผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิรายใหม่) คาดสามารถเริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 โดยมีกรอบวงเงิน 564.455 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจ้างเหมาบริการระบบลงทะเบียน และการยืนยันตัวตน 164.274 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายสำหรับการรับลงทะเบียน ของหน่วยรับลงทะเบียน 400.181 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบฯ ของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ที่ได้รับการจัดสรรไว้แล้ว
สำหรับคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน มีดังนี้
– ผู้ที่มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ต้องไม่เป็นภิกษุ ผู้ต้องขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ ข้าราชการ พนักงานราชการ ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐ
– รายได้ของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี และรายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี และผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ไม่เกินหลักเกณฑ์ เช่น วงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และวงเงินกู้สำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นต้น
– ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คกกฯกำหนด
นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ได้บัตรสวัสดิการฯ และปัญหาผู้มีบัตรฯ ที่ไม่ควรได้รับสิทธิ ทั้งนี้จะมีการ เปิดรับลงทะเบียน ตามโครงการฯ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และ จะมีการดำเนินการตรวจสอบ คุณสมบัติและตรวจสอบข้อมูลของผู้ลงทะเบียน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อีกด้วย
สำหรับผู้ได้รับสิทธิจากโครงการฯ ปี 2565 จะใช้บัตรประจำตัวประชาชนแทนบัตร สวัสดิการฯ เนื่องจากบัตรสวัสดิการฯ ที่ได้เริ่มใช้งานตั้งแต่เดือน ต.ค. 2560 มีอายุการใช้งาน 5 ปี และจะหมดอายุในเดือน ก.ย. 2565 ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนในการผลิตบัตรสวัสดิการฯ ใหม่ ประมาณ 1,258 ล้านบาท อีกทั้งลดปัญหาเรื่องการสวมสิทธิบัตรประจำตัวประชาชนหรือการนำบัตรประจำตัวประชาชนของบุคคลอื่นไปใช้ สิทธิแทน และช่วยลดการทุจริต เช่น กรณีร้านค้าเก็บบัตรสวัสดิการฯ ไว้เอง เป็นต้น
“โครงการลงทะเบียนฯ ปี 65 มีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการดำเนินการบางประการที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มเติมเงื่อนไข เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน และการดำเนินการให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ข้อมูลผู้มีบัตรสวัสดิการฯ ในปัจจุบันไม่สามารถสะท้อนข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยได้อย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องมีการลงทะเบียนรอบใหม่ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการแห่งรัฐ อย่างครบวงจร เป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มุ่งเน้นในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และมุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุด” นายธนกร กล่าว .-สำนักข่าวไทย