ทำเนียบฯ 28 พ.ค. – ครม.เปิดทางกันเงิน 1.22 แสนล้านบาท รองรับดิจิทัลวอลเล็ต ทบทวนแผนการคลังระยะปานกลาง
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพื่อเปิดทางปรับเพิ่มงบประมาณรายจ่ายปี 67 เพิ่มจำนวน 1.22 แสนล้านบาท รองรับโอนเงิน 1 หมื่นบาท จึงต้องทบทวนแผนการคลังระยะปานกลาง ให้สอดคล้องกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล
หลังจากในปี 2567 คาดว่า GDP ขยายตัวร้อยละ 2-3 ในปี 2568 คาดว่า GDP ขยายตัวร้อยละ 2.5-3.5 ปี 2569 และ 2570 คาดว่า GDP ขยายตัวร้อยละ 2.7-3.7 และในปี 2571 และ 2572 คาดว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.5-3.5 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2569 ร้อยละ 0.9-1.9 และปี 2570 อยู่ในช่วงร้อยละ 1.1-2.1 ส่วนในปี 2571-2572 มีแนวโน้มอยู่ในช่วงร้อยละ 1.3-2.3
ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2567 เท่ากับ 2.797 ล้านล้านบาท, ปี 68 เท่ากับ 2.887 ล้านล้านบาท, ปี 69 เท่ากับ 3.040 ล้านล้านบาท, ปี 70 เท่ากับ 3.204 ล้านล้านบาท และปี 71 เท่ากับ 3.394 ล้านล้านบาท ขณะที่การประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 เท่ากับ 3.602 ล้านล้านบาท, ปี 68 เท่ากับ 3.752 ล้านล้านบาท, ปี 69 เท่ากับ 3.743 ล้านล้านบาท, ปี 70 เท่ากับ 3.897 ล้านล้านบาท และปี 71 เท่ากับ 4.077 ล้านล้านบาท
ทำให้การขาดดุลงบประมาณลดลงต่อเนื่อง จากงบประมาณ 2567 รัฐบาลขาดดุล 805,000 ล้านบาท, ปี 68 ขาดดุล 865,700 ล้านบาท, ปี 69 ขาดดุล 703,000 ล้านบาท, ปี 70 ขาดดุล 693,000 ล้านบาท และปี 71 ขาดดุลเหลือ 683,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.3, 4.5, 3.5, 3.3 และ 3.1 ต่อ GDP ตามลำดับ โดยมียอดหนี้สาธารณะของรัฐบาล ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 จำนวน 11.131 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.4 ของ GDP สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในปีงบประมาณ 2567-2571 เท่ากับร้อยละ 65.7 ปี 68 ร้อยละ 67.9 ปี 69 ร้อยละ 68.8 ปี 70 ร้อยละ 68.9 และปี 71 ร้อยละ 68.6
รัฐบาลกำหนดเป้าหมายและนโยบายการคลังระยะปานกลาง นำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต ควบคู่ไปกับการทบทวนและยกเลิกมาตรการลดและยกเว้นภาษีให้มีเพียงเท่าที่จำเป็น การปฏิรูปโครงสร้าง และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ รวมถึงการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ ลดขนาดการขาดดุลการคลังและสร้างกันชนทางการคลัง (Fiscal Buffer) ในการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับการดำเนินนโยบายที่จำเป็น (Policy Space) ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต.-515-สำนักข่าวไทย