ระยอง 29 ม.ค. – อธิบดีกรมควบคุมมลพิษระบุ คราบน้ำมันดิบที่พัดสู่ฝั่งชุดแรกเมื่อ 22.10 น. คืนที่ผ่านมา คือส่วนที่เป็นฟิล์มบางปนกับเขม่าเรือ โดยกำลังจะมีส่วนที่เป็นกลุ่มน้ำมันสีน้ำตาลตามมาเป็นชุดที่ 2 ซึ่งจะต้องกำจัดด้วยสารย่อยสลายน้ำมันชนิดชีวภาพ แล้วทำความสะอาดแนวโขดหินและทรายที่ปนเปื้อน ย้ำต้องจัดเก็บอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า เจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วนร่วมปฏิบัติป้องกันและกำจัดคราบน้ำมันที่พัดถึงหาดแม่รำพึง ต.ตะพง อ.เมืองระยอง เป็นชุดแรกเมื่อเวลา 22.10 น. เมื่อคืนนี้ (28 ม.ค.) โดยมีนายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองเป็นผู้อำนวยการ
นักวิชาการตรวจสอบลักษณะคราบน้ำมันที่ลอยเข้ามาชุดแรกคือ ส่วนที่เป็นฟิล์มน้ำมันบางสีเงินปนกับเขม่าเรือซึ่งพัดเข้ามาก่อนเนื่องจากเป็นส่วนที่เบา แต่กำลังจะมีเศษน้ำมันสีน้ำตาลลอยเข้ามาเป็นชุดที่ 2 โดยเป็นเศษน้ำมันที่ถูกสารเคมี Dispersant ทำให้แตกตัวและย่อยสลาย เมื่อผสมกับทรายบนชายหาดจะค่อยๆ จับตัว แล้วรวมกันเป็นก้อนใหญ่ขึ้นจนเป็นเมือกสีดำ ดังนั้นต้องใช้สารย่อยสลายชีวภาพ Bio Dispersant ประกอบด้วยจุลินทรีย์ย่อยน้ำมันและสารลดแรงตึงผิวที่สกัดจากพืช แล้วจึงทำความสะอาดแนวโขดหินและทรายที่ปนเปื้อน
ขณะนี้แนะนำให้เตรียมแผ่นดูดซับซับน้ำมัน (Oil Absorbent) เพื่อช่วยดูดซับผืนชายหาดซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการจัดเก็บ คาดว่า คราบน้ำมันที่พัดสู่หาดแม่รำพึงจากเหตุการณ์ครั้งนี้จะบางกว่าเหตุการณ์ที่อ่าวพร้าวเมื่อปี 2556 เนื่องจากน้ำมันที่รั่วไหลครั้งนี้เป็น Light Crude Oil ซึ่งเป็นน้ำมันดิบชนิดเบา ความหนืดและความหนาแน่นต่ำ แต่กรณีอ่าวพร้าวเป็น Heavy Crude Oil ซึ่งหนักกว่า ความหนืดและความหนาแน่นสูง
ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษจะสนับสนุนและเตรียมกิจกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันและผลกระทบ โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดกับหาดแม่รำพึงซึ่งเป็นหาดท่องเที่ยว ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญคือ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด รวมถึงแหล่งปะการังและแหล่งหญ้าทะเลตามข้อสั่งการของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวต่อว่า จัดชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังซึ่งทำหน้าที่เก็บตัวอย่างน้ำทะเล 8 จุด และมีทีมตอบโต้เหตุฉุกเฉินสารเคมีทำหน้าที่สร้างความเข้าใจกับชาวบ้านและผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับลักษณะของคราบน้ำมัน อันตรายของคราบน้ำมัน รวมถึงการกำจัดที่เหมาะสมเพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
สำหรับคราบน้ำมันจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่ทะเลบริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมาปรากฏเป็น 2 ลักษณะคือ ฟิล์มน้ำมันสีเงิน ความหนา 0.0001 มิลลิเมตร ที่ปรากฏประมาณ 80% และน้ำมันสีน้ำตาลเข้ม ความหนา 0.1 มิลลิเมตร ที่ปรากฎประมาณ 20% ของคราบน้ำมันที่ลอยอยู่ทั้งหมด.-สำนักข่าวไทย