ฮ่องกง 16 ธ.ค. – ผลวิจัยของมหาวิทยาลัยฮ่องกงระบุว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วในหลอดลมสูงถึง 70 เท่า เมื่อเทียบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา แต่เพิ่มจำนวนช้าลง 10 เท่าในเนื้อเยื่อปอดเมื่อเทียบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนมีอาการป่วยรุนแรงน้อยกว่า
ผลวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่โดยคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮ่องกง (HKUMed) ระบุว่า คณะนักวิจัยประสบความสำเร็จในการคัดแยกเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนและนำเนื้อเยื่อปอดจากผู้ป่วยติดเชื้อโควิดมาใช้ในการศึกษาการกลายพันธุ์ครั้งล่าสุด ผลการเปรียบเทียบเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมพบว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในหลอดลมมากกว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมและเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาถึง 70 เท่าหลังได้รับเชื้อโอไมครอนเป็นเวลา 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ดี เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนกลับเพิ่มจำนวนช้าลง 10 เท่าในเนื้อเยื่อปอด เมื่อเทียบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนมีอาการป่วยรุนแรงน้อยกว่า ทั้งนี้ ผลวิจัยดังกล่าวกำลังได้รับการตรวจสอบจากคณะผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ
ผศ. ไมเคิล ชาน จือ-เว่ย อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮ่องกง ตั้งข้อสังเกตว่า อาการป่วยรุนแรงในผู้ป่วยติดเชื้อโควิดไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเพิ่มจำนวนของเชื้อโควิดเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงระบบตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยติดเชื้อด้วย นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเป็นวงกว้าง อาจทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ แม้เชื้อดังกล่าวจะทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงน้อยลงก็ตาม.-สำนักข่าวไทย