กรุงเทพฯ 5 ธ.ค. – ปลัดมหาดไทย สั่งด่วนผู้ว่าฯ 5 จังหวัดชายแดนใต้ เตรียมพร้อม 6 แนวทางรับมือ “โอไมครอน” หลังมาเลเซียติดเชื้อรายแรก กำชับยกระดับเฝ้าระวังชายแดนเข้มข้น-ดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องเด็ดขาด ควบคู่การเร่งฉีดวัคซีนประชาชนในพื้นที่ให้ครอบคลุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด ประกอบด้วย สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล กรณีประเทศมาเลเซีย รายงานการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) เป็นรายแรก และมีแนวโน้มว่าอาจจะมีการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย ดังนั้น ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) จึงขอให้จังหวัดดำเนินการเน้นย้ำการปฏิบัติ โดยใช้กลไกฝ่ายปกครอง นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล ฯลฯ และผู้นำชุมชน ในการบริหารสถานการณ์ในพื้นที่ ดังนี้
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด ประกอบด้วย สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล กรณีประเทศมาเลเซีย รายงานการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) เป็นรายแรก และมีแนวโน้มว่าอาจจะมีการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย ดังนั้น ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) จึงขอให้จังหวัดดำเนินการเน้นย้ำการปฏิบัติ โดยใช้กลไกฝ่ายปกครอง นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล ฯลฯ และผู้นำชุมชน ในการบริหารสถานการณ์ในพื้นที่ ดังนี้
- สร้างการรับรู้มาตรการสำคัญของทางราชการอย่างต่อเนื่อง โดยสร้างการรับรู้และความเข้าใจ รวมถึงการขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคีเครือข่ายภาครัฐ และภาคเอกชน ในการบังคับใช้มาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดในพื้นที่ตามวิธีป้องกันการติดเชื้อโควิดขั้นสูงสุดแบบ Universal Prevention และมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) รวมถึงเน้นย้ำบทบาทที่สำคัญของฝ่ายปกครอง ในการสนับสนุนการปฏิบัติร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่
- ดำเนินการเฝ้าระวังตามมาตรการในพื้นที่ชายแดน โดยเพิ่มความเข้มข้นเฝ้าระวัง ตรวจตรา และสอดส่องดูแลมิให้มีการลักลอบหลบหนีเข้าประเทศ และการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวโดยผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติ รวมถึงให้ดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดสำหรับผู้นำพาและผู้ให้ที่พักพิง
- ดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ชุมชน โดยดำเนินมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุก (Active Case Finding) อย่างเข้มข้น มุ่งเน้นการตรวจคัดกรองในพื้นที่ชุมชนที่มีประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และสถานที่เสี่ยงที่มีการรวมกลุ่มของประชาชนเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง อาทิ สถานประกอบการ โรงงาน และตลาด เป็นต้น
- ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และประสานการปฏิบัติหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มเปราะบางหรือผู้ที่สมควรได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
- สนับสนุนและประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยมุ่งเน้นกลุ่ม 608 และประชาชนทั่วไป รวมถึงเร่งทำความเข้าใจกับผู้ที่ไม่ประสงค์จะฉีดวัคซีนด้วย ทั้งนี้ ให้จังหวัดกำหนดจุดรับบริการฉีดวัคซีน ทั้งรูปแบบ On-Site และรูปแบบ Mobile Unit เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
- ดำเนินการติดตามข้อมูลข่าวสาร โดยให้ฝ่ายปกครอง นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล ฯลฯ และผู้นำชุมชน ติดตามข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ให้ทุกภาคส่วนรับรู้ร่วมกัน. – สำนักข่าวไทย