กรุงเทพฯ 18 พ.ย.-นายกฯ หารือหอการค้าอเมริกันในไทย ยังเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้นจากโควิด ชมรัฐบาลรับฟังข้อเสนอ แนะช่วยหนุนไทย เป็นประตูสู่อาเซียนของนักลงทุนต่างชาติ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังประชุมทางไกล ร่วมกับหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการหารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อม เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ การค้า และการลงทุน
นาย Gregory Wong ประธาน AMCHAM กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกและนับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่ได้พบหารือกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กว่า 400 คน ประธาน AMCHAM เน้นย้ำว่า ภาคเอกชนสหรัฐเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย ชื่นชมรัฐบาลไทยที่ได้รับคะแนนดีเยี่ยมจากภาคธุรกิจสหรัฐ ในเรื่องของการเปิดกว้างและการปรับตัว พอใจแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และพร้อมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทย โดยขอให้ไทยมอง AMCHAM เป็นพันธมิตร เชื่อถือได้ โดยพร้อมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพของไทย
นายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน ไทยยังเป็นฐานการผลิตวัคซีน AstraZeneca โดยร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐ ด้านการวิจัย พัฒนา ผลิต และกระจายวัคซีนที่มีคุณภาพและปลอดภัย การเปิดประเทศถือเป็นก้าวแรก ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ให้สมดุลระหว่างการป้องกันโรคกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามนโยบาย Smart Control and Living with COVID-19 รวมถึงมีการเยียวยาเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
รัฐบาลยังให้ความสําคัญกับการ พัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านนโยบายพลังงาน 4D1E และมุ่งพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ผ่านนโยบาย 30@30 ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนการลงทุนจากเอกชนสหรัฐ เพื่อเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน อุตสาหกรรม EV และชิ้นส่วนระบบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนในเขต EEC แนะให้ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของไทยเชื่อมโยงไปสู่ประเทศอื่นในภูมิภาคตามนโยบาย Thailand+1 นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ตามกรอบ Digital Thailand และนโยบาย Thailand 4.0 จึงชวนมาลงทุนและยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะในเขตนวัตกรรม EECd
สำหรับวาระการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปี 2565 นายกรัฐมนตรีได้ประกาศแนวทางหลัก “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” และได้กำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมใน 3 ด้านด้วยแนวคิด BCG ได้แก่ 1. การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม 2. การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน และ 3. การฟื้นฟูความเชื่อมโยง ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนรวมถึงภาคเอกชนสหรัฐ ซึ่งมีบทบาทสนับสนุนความต่อเนื่องในการผลักดันประเด็นที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญร่วมกัน ในการส่งต่อวาระเจ้าภาพจากไทยไปสู่สหรัฐ ในปี 2566 ต่อไปด้วย
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอให้ภาคเอกชนสหรัฐเชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 พร้อมเชิญชวนขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยรัฐบาลพร้อมร่วมกับภาคเอกชนสหรัฐอย่างใกล้ชิด .-สำนักข่าวไทย