ทำเนียบรัฐบาล 6 ส.ค.-เลขา ฯสมช. รับอาจไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังสิ้นสุด ก.ย.นี้ เตรียมนำ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ที่ครอบคลุมกว่ามาใช้แทน ส่วน ศบค.อาจจบภารกิจ แล้วแปรสภาพเป็นระบบอื่น
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( ศปก.ศบค.) กล่าวถึงกระแสข่าวจะพิจารณายกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่า ทุกอย่างเป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้า และเป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค.ที่ให้เตรียมการไว้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์
“เป็นที่ทราบดีว่าสังคมไม่ค่อยสบายใจเรื่องการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ห้วงเวลาที่ผ่านมาก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะใช้เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามต้องมีวันสิ้นสุด ส่วนจะสิ้นสุดเมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค.และรัฐบาลที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม” เลขาธิการ สมช. กล่าว
เมื่อถามว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ใช่ตัวชี้วัดของการคงอยู่ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาเท่านั้น แต่อาจจะมีกฏหมายอื่นมารองรับ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพยายามจะปรับปรุงพัฒนา พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ให้ตอบสนองต่อการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคได้ ซึ่งถ้าการดำเนินการเกี่ยวกับข้อกฏหมายเสร็จสิ้นและนำมาทดแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ ศบค. ก็พร้อมจะไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไข
“เป็นไปได้ที่จะไม่ต่ออายุการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายนนี้ เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้เริ่มทรงตัว และปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากเอกชนดีพอสมควร และประชาชนก็มีความเข้าใจสถานการณ์ แม้จะมีบางส่วนไม่ปฏิบัติตามมาตรการก็ตาม แต่ในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ซึ่งหากอยู่ในเกณฑ์นี้ต่อไปหรือดีขึ้นก็น่าจะพิจารณานำ พ.ร.บ.โรคติดต่อมาใช้ได้” เลขาธิการ สมช. กล่าว
พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า หากไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ศบค.น่าจะต้องจบภารกิจไปด้วย แต่ไม่ได้หายไปจากวงจร เพียงแต่แปรสภาพไปเป็นระบบอื่นที่กฏหมายใหม่รองรับได้ ซึ่งรัฐบาลกำลังพิจารณากฏหมายใหม่อยู่ โดยจะต้องตอบโจทย์การแก้ปัญหาในปัจจุบันได้ เนื่องจากกฏหมายเดิมที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับการแก้ปัญหาได้เพียงพอ ซึ่งกฏหมายใหม่ที่จะเกิดขึ้นคาดว่าดีกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีความเข้มงวด แต่ไม่ตอบโจทย์ทุกกรณี
“กฏหมายใหม่จะตอบโจทย์ได้เกือบทั้งหมด เพราะเสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข ที่ทราบถึงปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันหาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สิ้นสุดลง แต่การแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ยังไม่เสร็จ จะทำอย่างไรนั้น ก็เห็นว่าจะต้องพิจารณากันอีกครั้ง แต่ยืนยันรัฐบาลพยายามเร่งรัดและปรับปรุงให้เสร็จทันเวลา” เลขาธิการ สมช. กล่าว
ส่วนการประชุม ศบค.ชุดใหญ่จะผ่อนคลายมาตรการเพิ่มขึ้นหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ต้องรอฟังข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขก่อน จากนั้นค่อยหารือกับหน่วยงานอื่น ๆ ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร เช่น กระทรวงด้านเศรษฐกิจ อาจมีข้อเสนอให้ผ่อนคลายเพิ่มเติม เพราะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
เมื่อถามถึงกรณีล่าสุดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากถึง 900 คน จะทบทวนการดำเนินการหรือไม่ เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า ได้ติดตามและประชุมกับทีมภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์อย่างต่อเนื่อง วันเว้นวัน นายกรัฐมนตรีกำชับให้ติดตามอย่างใกล้ชิด ยอมรับว่าผู้ติดเชื้อ 900 คนเป็นตัวเลขที่สูง ซึ่งความเห็นจากกระทรวงสาธารณสุขคือยังไม่น่าหนักใจ เพราะในต่างประเทศเริ่มปรับจากโรคแพร่ระบาดใหญ่ (pandemic) เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว (andemic) ดังนั้น ในอนาคตจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจจะไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุด แต่อาจไปดูตัวเลขผู้มีอาการและผู้เสียชีวิตแทน อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ยืนยันว่าขีดความสามารถการรักษายังเพียงพอ เพราะได้เตรียมการมาแล้วตั้งแต่ต้น
พล.อ.ณัฐพล ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในปีนี้ เปิดเผยด้วยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์นี้ จะยังไม่ได้เสนอชื่อเลขาธิการสมช.คนใหม่ให้ ครม.พิจารณา เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนเอกสารการโอนย้าย.-สำนักข่าวไทย