กทม. 16 ส.ค.-จุฬาฯ เผยผลวิจัยวัคซีน ChulaCov19 กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงเทียบเท่าไฟเซอร์ ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้ 4 สายพันธุ์
แพทย์จุฬาฯ เผยผลทดสอบวัคซีน ChulaCov19 ในอาสาสมัครกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงเทียบเท่ากับวัคซีน mRNA ไฟเซอร์ ไบออนเทค ยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม และเชื้อกลายพันธุ์ ทั้ง 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา ช่วยขจัดและควบคุมเชื้อที่อยู่ในเซลล์ของผู้ติดเชื้อโควิดได้เป็นอย่างดี
รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แถลงความคืบหน้าล่าสุดการวิจัยและพัฒนา ChulaCov19 วัคซีน mRNA สัญชาติไทยรุ่นเแรก ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย โดยวัคซีน ChulaCov19 ผลิตสร้างขึ้นจากชิ้นส่วนขนาดจิ๋วของสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา (โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด) ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วนี้เข้าไป จะทำการสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (spike protein) และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไว้เตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ เมื่อวัคซีน mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่กี่วัน mRNA นี้จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกายแต่อย่างใด ภายหลังประสบความสำเร็จจากการทดลองในลิงและหนู พบว่าช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง จึงได้ผลิตและทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 ให้กับอาสาสมัครคนไทย ไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 เพื่อหาปริมาณวัคซีน ChulaCov 19 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย บอกว่า ผลการวิจัยเบื้องต้นของการทดลองในระยะที่ 1 กับอาสาสมัครจำนวน 36 คน อายุระหว่าง 18-55 ปี ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมา 7 วันแล้ว พบว่ามีความปลอดภัยดี ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ มีเพียงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับเล็กน้อย หรือปานกลาง และจะดีขึ้นภายใน 1-3 วัน และที่สำคัญยังพบว่าวัคซีน ChulaCov 19 สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีได้สูงเทียบเท่ากับวันซีน mRNA อื่นๆ เช่น ไฟเซอร์ ไบออนเทค สามารถกระตุ้นแอนติบอดีได้สูงมากในการยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม และแอนติบอดีที่สูงนี้ ยังสามารถยับยั้งเชื้อข้ามสายพันธุ์ได้ ทั้ง 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา อีกทั้งยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิด ที-เซลล์ ซึ่งจะช่วยขจัดและควบคุมเชื้อที่อยู่ในเซลล์ของคนที่ติดเชื้อโควิดได้
หลังจากนี้ ทีมผู้วิจัยจะทำการทดสอบเฟสที่ 2 เริ่มฉีดวัคซีนให้อาสาสมัครประมาณวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ส่วนการดำเนินการในเฟส 3 อยู่ระหว่างการหารือว่า การขึ้นทะเบียนจะต้องมีขั้นตอนของ อย. ย่างไรบ้าง
สำหรับ วัคซีน ChulaCov19 สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8 องศาเซลเซียส ได้นาน 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง 25 องศาเซลเซียส ได้นาน 2 สัปดาห์ อีกทั้งวัคซีนชนิด mRNA สามารถผลิตได้เร็ว ไม่ต้องรอเพาะเลี้ยงเชื้อ สังเคราะห์ในหลอดทดลอง ไม่เกิน 4 สัปดาห์ ไม่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ และสามารถปรับแต่งวัคซีนต้นแบบตามพันธุกรรมของเชื้อกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท Bionet Bionet Asia เพื่อผลิตได้ทันที .-สำนักข่าวไทย