กรุงเทพฯ 13 ส.ค. – ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ โพสต์อาลัย “หมอแอ้ม” บุคลากรทางการแพทย์คนแรกของโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เสียชีวิตจากโควิด-19
พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “วันนี้ทราบข่าวการจากไปของ “หมอแอ้ม” นาวาอากาศเอกหญิง แพทย์หญิงสรัญยา ฬาพานิช แล้วรู้สึกใจหายมากๆ ได้ทำงานกับน้องเรื่องการพัฒนาคุณภาพ รพ.กองบิน 4 ตอนสมัยที่แอ้มเป็น ผอ.รพ.กองบิน แอ้มเป็นหญิงแกร่ง อารมณ์ดี ตัดสินใจเด็ดขาด เป็นผู้นำที่ลูกน้องรัก สามารถนำทีมจน รพ.กองบิน 4 ตาคลี เป็น รพ.กองบินแห่งแรกที่ได้รับการรับรอง HA แอ้มอยู่ รพ.กองบิน นานมาก เพิ่งกลับมา รพ.ภูมิพลอดุลยเดช ไม่นานนี้เอง แอ้มน่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ของ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช คนแรกที่เสียชีวิตจากโควิด-19 แอ้มเป็นหมอรังสีรักษา แต่ก็มีความเสี่ยงกับการเป็นโควิด-19 เหมือนบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอยู่ทุกคน ขอให้น้องไปสู่สุคติในสัมปรายภพ และขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของน้องด้วยครับ รู้สึกเลยว่าตอนนี้อันตรายของโควิด-19 ใกล้ตัวเข้ามาทุกขณะครับ”
ด้านนายแพทย์สิทธิพงศ์ ฬาพานิช (หมอเตี๋ยว) น้องชายของหมอแอ้ม ออกมาเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่านอกจากการสูญเสียผู้เป็นพี่สาวแล้ว โรคโควิด-19 ยังได้พรากชีวิตของคุณพ่อและคุณแม่ไปด้วยเช่นกัน ทำให้ครอบครัวของเขานั้นเสียชีวิตจากโควิดแล้ว 3 ราย โดยโพสต์ดังกล่าวระบุว่า “เคสพี่สาวผม เป็นเเพทย์ที่เเม้จะฉีดวัคซีนไปแล้วก็ยังติดเชื้อโควิดและเสียชีวิต ครอบครัวเราเสียชีวิตจากโควิด ตอนนี้สามชีวิตครับ คือคุณแม่ เมื่อ 25/7 คุณพ่อ 31/7 แล้วก็พี่สาว เมื่อวานนี้ ผมคิดว่าผมมีสิทธิที่จะพูดความรู้สึก และความต้องการที่เห็นสถานการณ์โควิดในประเทศปัจจุบันนี้ ผมเองไม่อยากจะโทษวัคซีนใดๆ ว่าดีหรือไม่ดี เพราะหลายยี่ห้อฉีดครบก็มีเสียชีวิตครับ แต่โดยหลักทางวิชาการที่ยอมรับในหลายๆ ประเทศทั่วโลกนั่น ชนิด mrna หรือ subunit protien น่าจะเป็นคำตอบที่ดีในเบื้องต้นนี้ครับ และเเม้ว่าวัคซีนที่น่าจะครอบคลุมทุกเชื้อน่าจะเป็นลอตของปีหน้า แต่เรารอเเบบนั้นไม่ได้นะครับ เราต้องมีวัคซีนที่มาตรฐานจำนวนมากกว่าที่มีตอนนี้ครับ ปัญหาของเราคือ “กฎที่ออกว่า ใครจะซื้อต้องผ่านหน่วยงานรัฐ” ผมเองไม่มั่นใจในเรื่องกฎหมายเท่าไรนัก แต่ผมคิดว่าถ้าเราสามารถออกกฎแบบที่ราชกิจจาฯ ที่ให้ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์นำเข้าได้ ก็น่าจะออกให้บรรดาโรงพยาบาลเอกชน หรือองค์กรเอกชน สามารถนำเข้าได้
ถ้าไม่เชื่อใจโรงพยาบาลเอกชนที่ใด ก็ผ่านตัวสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ก็น่าจะเป็นสมาคมใหญ่ในระดับที่น่าเชื่อถือได้นะครับ การนำเข้าวัคซีนที่ยอมรับในต่างประเทศมามากที่สุด เท่าที่ทำได้ในทุกๆ ทาง โดยไม่ต้องอาศัยกฎเกณฑ์ ผ่านหน่วยงานรัฐ น่าจะอนุโลมให้ใช้ในสถานการณ์ที่คนไทยได้ฉีดวัคซีนเพียง 25% (นี่คือรวมเชื้อตายและ mrna) ของประชากร เพราะวัคซีนยิ่งเยอะ (โดยเฉพาะพวก mrna และ Subunit Protein) มันก็จะยิ่งดีไม่ใช่หรือครับ มันน่าจะถึงเวลาที่เราควรแก้บางกฎ เพื่อให้คนไทยได้วัคซีน “ที่มาตรฐาน” ที่จะพอป้องกันตัวเองได้ อย่างน้อยเราก็พอมองเห็นทางสว่างข้างหน้าครับ ผมเชื่อว่าถ้าออกกฎที่แก้ได้จะมีบริษัท หรือโรงพยาบาลมากมาย หรือแม้แต่หน่วยงานใดๆ ที่จะยินดีติดต่อเอง และเราจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะเราเสียเวลามามากเกินไปแล้วครับ กับคำว่ารอวัคซีนที่มาตรฐาน ครับ เปิดโอกาสให้องค์กรต่างๆ นำเข้าวัคซีนเองเถอะครับ มีมากดีกว่ามีไม่พอนะครับ นายแพทย์สิทธิพงศ์ ฬาพานิช (หมอเตี๋ยว)” .-สำนักข่าวไทย