สำนักข่าวไทย 14 ก.ค.- มติที่ประชุม คกก.วัคซีนแห่งชาติ เร่งจัดหาวัคซีนทุกชนิด 120 ล้านโดส ในปี 65 พร้อมเปิดช่องไฟเขียวให้ฝ่ายเลขานุการ คกก.วัคซีนฯ เร่งหาข้อมูลรอบด้าน เรื่องการจำกัดการส่งออกวัคซีนออกนอกราชอาณาจักร หลังสัดส่วนวัคซีนที่ได้รับอยู่ที่ 1 ใน 3 ของกระบวนการผลิต

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ผ่านระบบ webex meeting ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการจัดหาวัคซีนหลากหลายรูป ทั้ง m-RNA ,ไวรัสเวกเตอร์,ซัปยูนิตโปรตีน และอื่นๆ จำนวนทั้งสิ้น 120 ล้านโดส ในปี 2565 เนื่องจากคำนึงถึงสถานการณ์การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส และในปี 2564 ต้องเร่งรัดจัดหาวัคซีนให้ได้ครบ 100 ล้านโดส สำหรับคนที่ไม่ได้เข้าถึงวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการหารือเรื่องร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข มาตรา 18 พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ในการกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนป้องกันโควิดไปภายนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยที่ประชุมได้มีการหารือในเรื่องอย่างกว้างขวางและพิจาณาถึงผลกระทบในทุกมิติ และความเป็นไปได้ ซึ่งได้เห็นชอบในหลักการและมอบให้ฝ่ายเลขานุการ คือสถาบันวัคซีนฯ และกรมควบคุมโรค พิจารณาทบทวนเนื้อหาของร่างประกาศนี้ โดยพิจารณาผลกระทบ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศด้านต่างๆ และของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก และให้ดำเนินการเจรจาเต็มที่กับผู้ผลิตวัคซีนให้ได้ปริมาณที่เหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของโรคในประเทศ และเมื่อได้ผลอย่างไรให้กลับมารายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเห็นชอบร่างประกาศต่อไป เนื่องจากสัดส่วนของวัคซีนที่ได้รับในปัจจุบันอยู่ที่ 1 ใน 3 ของกระบวนการผลิต

นพ.โอภาส กล่าวว่าส่วนเรื่องที่องค์การอนามัยโลกเตือนเรื่องการฉีดวัคซีนสลับชนิดกัน เนื่องจากประกาศขององค์การอนามัยโลก ค่อนข้างยาว ไม่สามารถตัดทอนได้ แต่ภาพรวมเห็นว่าหากหน่วยงานสาธารณสุขมีข้อมูลวิชาการสนับสนุนก็สามารถดำเนินการได้ ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์กับประเทศนั้นๆ ไม่ได้ระบุว่าทำแล้วเกิดอันตรายหรือห้ามทำ.-สำนักข่าวไทย