เชียงราย 3 ก.ค. – “อนุทิน” เผย รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ศึกษาประสิทธิผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อและในหอผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าการฉีดวัคซีนช่วยลดอาการป่วยหนักได้จริง
วันนี้ (3 กรกฎาคม 2564) ที่ จ.เชียงราย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน จ.เชียงราย โดยมีนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้การต้อนรับ
นายอนุทิน กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้เพื่อติดตามสถานการณ์โควิด-19 ใน จ.เชียงราย จากการแพร่ระบาดในรอบเดือนเมษายน มีผู้ติดเชื้อสะสม 1,024 คน ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในครอบครัว ชุมชน สำนักงาน และขณะนี้พบการติดเชื้อเป็นแบบคลัสเตอร์อยู่ 4 กลุ่ม ได้แก่ เทิง แม่สาย เวียงป่าเป้า และเมืองเชียงราย ซึ่งคลัสเตอร์เมืองเชียงรายนั้นเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยเหลือคนไข้ นักรังสีการแพทย์ พนักงานเปล ที่ติดเชื้อจากการรักษาและให้บริการผู้ป่วย จำนวน 49 คน และมีการติดตามผู้สัมผัสเป็นผู้ป่วยและญาติอีก 100 คน รวมเป็น 149 คน
โดยกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ และมีอาการเล็กน้อย ทางโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์จึงได้พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ทำการศึกษาอัตราการติดเชื้อ ความรุนแรงของอาการป่วยภายหลังการฉีดวัคซีน พบว่าในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน 29 ราย พบมีอาการปอดอักเสบเพียง 3 ราย ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน 12 ราย พบมีอาการปอดอักเสบ 6 ราย นอกจากนี้ยังได้ขยายผลการศึกษาไปยังหอผู้ป่วยที่พบการติดเชื้อ มีบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน 537 ราย พบอัตราการติดเชื้อเฉลี่ยร้อยละ 8 ในจำนวนนี้ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดส พบติดเชื้อร้อยละ 5.7 ซิโนแวค 1 โดส ติดเชื้อร้อยละ 16.7 แอสตราเซเนกา 1 โดส ติดเชื้อร้อยละ 6.6 ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนพบติดเชื้อร้อยละ 33.3
จากผลการศึกษาเบื้องต้นทำให้มั่นใจว่าประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวัคซีนมีความปลอดภัย ช่วยให้ไม่ป่วยหนักมากขึ้น ป้องกันการเสียชีวิตจากโควิดได้ หรือแม้ได้รับการฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียว ยังสามารถช่วยป้องกันอาการรุนแรงได้ เช่นกัน โดยจะนำข้อมูลนี้ส่งต่อไปยังสถานพยาบาลต่าง ๆ ให้บุคลากรทางการแพทย์เข้ารับวัคซีนครบ 100% และให้ทุกสถานพยาบาลเพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติงานของบุคลากรอย่างเต็มที่ เนื่องจากทุกคนเป็นบุคลากรที่มีค่าของกระทรวงสาธารณสุขและขอให้กำลังใจกับบุคลากรที่ติดเชื้อทุกคน
สำหรับการให้วัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันอยู่ในระหว่างการ ศึกษาวิจัย จากสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำของโลก ส่วนในประเทศไทยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญฯ ได้ติดตามผลการศึกษาอย่างใกล้ชิด และจะพิจารณาใช้หากพบว่ามีประสิทธิผลในการป้องกันโรคในระยะต่อไป
นายอนุทินกล่าวต่อว่า สำหรับการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10 ล้านโดส และจะรีบจัดสรรกระจายไปยังทุกจังหวัดอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ เพื่อให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม โดยวัคซีนที่ภาครัฐจัดหาสำหรับฉีดให้กับคนในประเทศขณะนี้ มีแอสตราเซเนกา ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้รับมาตรฐาน องค์การอนามัยโลกให้การรับรอง และยังได้มีการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม
ในส่วนจังหวัดเชียงราย ข้อมูลถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 มีประชากรได้รับการฉีดวัคซีนแล้วแล้ว 88,274 คน จากกลุ่มเป้าหมาย 820,459 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 10.76 มีศักยภาพในการฉีดสูงสุดได้ 300,000 โดสต่อเดือน ซึ่งจะจัดสรรวัคซีนให้กับเชียงรายมากที่สุดเท่าที่ทำได้ เบื้องต้นขอให้เน้นในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังก่อน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะป่วยหนักและเสียชีวิตในพื้นที่ โดยในแต่ละพื้นที่มีวัตถุประสงค์ในการฉีดวัคซีนที่แตกต่างกัน เช่น จ.ภูเก็ต จะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครบร้อยละ 70 ให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวตามแผน Phuket Tourism Sandbox ส่วนในกรุงเทพมหานคร เป็นการระดมฉีดเพื่อควบคุมโรค และให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
นอกจากนี้ ได้เยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่แพทย์โรงพยาบาลเทิง อ.เทิง จ.เชียงราย และติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ โดยได้ฝากให้หน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทำงานเชื่อมต่อเป็นเครือข่าย ซึ่งจะทำให้มีความพร้อมในการบริการประชาชน ส่งต่อผู้ป่วย หากเกิดความแออัดของโรงพยาบาล. – สำนักข่าวไทย